ข้อกฎหมายเกี่ยวกับ Cryptocurrency ในประเทศไทย
มีการประกาศถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคริปโตในประเทศไทย
มีการประกาศถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคริปโตในประเทศไทย
Cryptocurrency หรือคริปโตเคอเรนซีนั้นยังไม่ถือว่าเป็นสกุลเงินที่ถูกกฎหมายในประเทศไทย แต่ในทางกลับกันจะถือว่าเป็น “Digital Asset” หรือ “สินทรัพย์ดิจิทัล” ที่ซึ่งครอบคลุมคริปโตเคอเคนซีและโทเคนดิจิทัล
คริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency) คือสกุลเงินที่มีการเข้ารหัสทางคอมพิวเตอร์ โดยสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการใด ๆ ที่ผู้ให้บริการรองรับ รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนมูลค่าของคริปโตเคอเรนซีด้วยกันเอง (สกุลหนึ่งแปลงเป็นอีกสกุลหนึ่ง) ซึ่งยังไม่มีการประมูลว่าสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (Legal Tender) ทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นทั่วโลก
โทเคนดิจิทัล (Digital Token) คือรูปแบบหนึ่งของคริปโตเคอเรนซี แต่ที่มาของมันจะแตกต่างกัน โดยโทเคนดิจิทัลจะสร้างขึ้นเพื่อกำหนดว่าบุคคลได้ได้รับสิทธิในการเข้าร่วมลงทุน (Investment Token) หรือสิทธิในการใช้ชำระสินค้าและบริการตามเงื่อนไขของผู้ออกโทเคน (Utility Token) ซึ่งการแจกจ่ายโทเคนดิจิทัลจะดำเนินผ่านการระดมทุน Initial Coin Offering (ICO)
มีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าด้วย “พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” หรือ “พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล” ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 โดยมีจุดมุ่งหมายในการกำกับดูแลการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในวงกว้าง
อยู่ภายใต้การควบคุมและได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดย พ.ร.ก. ได้กำหนดระเบียบข้อบังคับทั้งหมด 8 หมวดด้วยกัน ดังนี้
หมวดที่ 1 และ 2 ประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัล
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น “สินทรัพย์ดิจิทัล” หรือ “Digital Asset” ที่ระบุไว้ใน พ.ร.ก. นี้ ได้แก่ คริปโตเคอเรนซีและโทเคนดิจิทัล ซึ่งมีการระบุเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อยกเว้นที่ไม่ถือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลคือ “หลักทรัพย์” ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นั้น ถึงแม้ว่าจะอยู่ในรูปแบบของสินทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนของกฎหมายและแยกประเภทอย่างชัดเจน
อีกทั้งยังกำหนดกิจกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ได้แก่ การระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO) และการให้บริการเป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange, Broker, Dealer, Advisory Service และ Fund Manager)
หมวดที่ 3 การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน
การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชนผ่านการการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO) โดยผู้เสนอขายได้ทำการออกโทเคนไว้แล้วและจะทำการเสนอขายต่อประชาชน ซึ่งผู้เสนอขายนั้นจะต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. และมีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขอย่างถูกต้องตามร่างกฎหมาย ได้แก่ จะต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน รวมทั้งต้องยื่นเอกสารที่แสดงรายละเอียดทั้งหมดของการเสนอขายแบบ ICO และต้องมีร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ให้มีการพิจารณาเห็นชอบกับข้อเสนอด้วยเช่นกัน
มีการกำหนดข้อบังคับภายหลังที่มีการเสนอขายไปแล้วด้วยเช่นเดียวกัน ได้แก่ จัดทำและส่งรายงานเกี่ยวกับผลดำเนินงาน รวมถึงฐานะการเงินของบริษัทผู้เสนอขาย และข้อมูลเกี่ยวกับราคาตลาดของโทเคนดิจิทัล เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือครองโทเคนดิจิทัล
หมวดที่ 4 การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตาม พ.ร.ก. ฉบับนี้ ได้แก่
1. ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) คือตลาดแลกเปลี่ยนที่อยู่ในรูปแบบของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทางออนไลน์ ไม่ว่าจะบนเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่จัดให้มีขึ้นเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยอาจเป็นการจับคู่สัญญาหรือแม้แต่การที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันเองก็ได้เช่นเดียวกัน
2. นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) คือบุคคลที่ให้บริการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลแก่บุคคลอื่น โดยจะได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนเป็นรายได้
3. ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) คือบุคคลที่ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในนามของตนเอง โดยไม่ได้ทำการซื้อขายผ่าน Exchange หรือ Broker
4. ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (Advisory Service) คือบุคคลที่ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงทุนหรือคุณค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลก็ตาม แต่ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการแนะนำที่ชักจูงไปสู่การซื้อขายกับ Exchange, Broker หรือ Dealer ใด ๆ
5 ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (Fund Manager) คือบุคคลที่สามารถจัดการเงินทุนให้แก่บุคคลอื่นได้ในการรับผลประโยชน์จากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล
โดยผู้ที่จะสามารถประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้นั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ด้วยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งจะต้องทำการร่างหนังสือยื่นขออนุญาตที่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ ที่ทางรัฐมนตรีกระทรวงการคลังกำหนด และหากได้รับอนุญาตจากทางรัฐมนตรีกระทรวงการคลังแล้วนั้น ทาง ก.ล.ต. จะทำการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก. ฉบับนี้
หมวดที่ 5 การเลิกประกอบธุรกิจ การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ และการห้ามการทำธุรกรรม
1. การเลิกประกอบธุรกิจ
สามารถทำได้โดยการยื่นขอเลิกประกอบธุรกิจต่อรัฐมนตรีกระทรวงการคลังผ่านทางคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งภายหลังจากการยื่นขอเลิกประกอบธุรกิจนั้น ผู้ประกอบฯ ต้องทำการจัดการรายการที่ค้างภายในแพลตฟอร์มทั้งหมดภายในระยะเวลาที่ทาง ก.ล.ต. กำหนด
2. การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ
การเพิกถอนใบอนุญาตจะเป็นอำนาจของทาง ก.ล.ต. หากมีการละเมิดข้อตกลงใด ๆ ในรายละเอียดการขออนุญาตประกอบธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ประกอบธุรกิจไม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่ ก.ล.ต. กำหนด (เปิดให้บริการช้าหรือปิดตัวช้ากว่ากำหนด) ฐานะทางการเงินของธุรกิจสร้างความเสียหายแก่การลงทุนของประชาชน ถึงแม้ ก.ล.ต. จะเล็งเห็นว่าสามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้แต่ผู้ประกอบฯ กลับเพิกเฉย และรวมไปถึงกรณีที่แก้ไขไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งรัฐมนตรีอาจมีคำสั่งผ่านทาง ก.ล.ต. ให้เพิกถอนใบอนุญาตได้
3. การห้ามการทำธุรกรรม
ในกรณีที่การทำธุรกรรม การดำเนินกิจการ หรือการดำเนินการผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล ที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินหรือระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศห้ามการทำธุรกรรมได้
หมวดที่ 6 การป้องกันกิจกรรมอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
1. False Dissemination: ห้ามเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จที่อาจก่อให้เกิดการเข้าใจผิดที่เกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือราคาสินทรัพย์ดิจิทัล
2. Insider Trading: ห้ามเปิดเผยข้อมูลภายในเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลโดยไม่รับอนุญาตจากผู้เสนอขาย ไม่ว่าด้วยจุดประสงค์ใดก็ตาม
3. Front Running: ห้ามไม่ให้ Broker ทำการซื้อขายตัดหน้าลูกค้า หรือเปิดเผยคำสั่งซื้อของลูกค้าแก่บุคคลอื่น
Market Manipulation: ห้ามสร้างคำสั่งซื้อขาย หรือซื้อขายต่อเนื่องกันเป็นปริมาณมาก โดยมุ่งหมายให้ราคาหรือปริมาณซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาด
หมวดที่ 7 อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่
พนักงานเจ้าหน้าที่จะมีอำนาจในการตรวจสอบและเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล รวมไปถึงอำนาจยึดหรืออายัด สินทรัพย์ เอกสารหลักฐาน หรือระบบคอมพิวเตอร์ หากพบว่ามีการกระทำผิดตาม พ.ร.ก. ฉบับนี้ และนอกจากนี้ยังมีอำนาจในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างประเทศเพื่อตรวจสอบข้อมูลระหว่างกันหากพบผู้กระทำผิดกฎหมายที่จากประเทศผู้ร้องขอ รวมไปถึงการส่งมอบหลักฐานต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกัน
หมวดที่ 8 และ 9 บทกำหนดโทษทางอาญาและมาตรการลงโทษทางแพ่ง
พ.ร.ก. ฉบับนี้ได้กำหนดโทษทางอาญาเป็นการลงโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยฐานความผิดและอัตราโทษจะเทียบเคียงกับ พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในขณะเดียวกันนั้นมาตรการโทษทางแพ่งจะใช้ประมวลกฎหมายมาตรา 96 มาใช้ โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทั้งหมด ที่นี่
มีการกำหนดให้ตัวกลางในการซื้อขาย ได้แก่ Exchange, Broker และ Dealer จะต้องมีคุณสมบัติและหน้าที่ต่อลูกค้า ดังนี้
– จะต้องมีคุณสมบัติในการจัดการกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นอย่างรัดกุม ผู้บริการและบุคคลที่เกี่ยวข้องจะต้องมีประวัติโปร่งใส รวมไปถึงความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มที่จะต้องมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ
– หน้าที่ต่าง ๆ ดังนี้
“เนื่องจากเป็นหน่วยการลงทุนใหม่ ดังนั้นคุณต้องคอยสังเกตเสมอว่ามีประกาศออกมาใหม่หรือไม่”
1. ต้องผ่านเงื่อนไขคัดกรองโดย ICO Portal ว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่
2. ยื่นหนังสือชี้ชวนต่อ ก.ล.ต. ที่ระบุรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับ ICO
3. ก.ล.ต. พิจารณาการอนุญาตภายใน 60 วันหลังจากยื่นรายละเอียดครบถ้วน
4. เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ต้องเสนอขายโทเคนดิจิทัลผ่าน ICO Portal ภายใน 6 เดือน
โดยสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนใน ICO นั้นสามารถลงทุนได้ตั้งแต่ ผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ นิติบุคคล และรวมไปถึงนักลงทุนรายย่อยด้วยเช่นเดียวกัน
กฎหมายสำหรับนักลงทุนมีเพียงการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% เท่านั้น
หลักเกณฑ์การเก็บภาษีจากรายได้ใด ๆ ที่เกิดจากการค้าหรือการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องเป็นไปตามหลักการภาษีทั่วไป ตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาและประมวลรัษฎากรฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดให้มีการเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% โดยทั่วไปแล้วผู้เสียภาษีแต่ละรายจะต้องรวมรายได้ดังกล่าวไว้ในผลตอบแทนประจำปี แต่ในทางกลับกันสำหรับนิติบุคคลนั้นจะไม่มีกฎหมายกำหนดอัตราภาษี
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีประกาศว่าจะควบคุมคริปโตเคอเรนซีประเภท Stablecoin ทั้งหมดเพื่อการปกป้องนักลงทุนจากการขาดทุนหรือผู้กระทำผิดจากธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง และนอกจากนี้ทาง ธปท. ก็อยู่ในขั้นตอนพัฒนาคริปโตเคอเรนซีของธนาคารกลางเพื่อรายย่อย (Retail Central Bank Digital Currency: CBDC) เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนทั่วไป รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการภาคธุรกิจ และเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินอีกด้วย ซึ่งเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมานี้ทาง ธปท. เข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 ของกระบวนการพัฒนาคริปโตเคอเรนซีกับทาง CBDC แล้ว
นับตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2564 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแห่งประเทศไทย (AMLO) ได้เริ่มกำหนดให้การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลใด ๆ จะต้องมีการยืนยันตัวตนของลูกค้าผ่านเครื่อง “dip-chip” ที่ระบุให้ลูกค้าต้องแสดงตัวก่อนเปิดบัญชีคริปโตเคอเรนซีหรือทำธุรกรรมใหม่ สำหรับธุรกรรมที่มีมูลค่าตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป ข้อมูลติดต่อ วันเดือนปีเกิด และที่อยู่อาศัย ตลอดจนหลักฐานแสดงตัวตน อาชีพ สถานที่ทำงาน รวมไปถึงชื่อและลายเซ็นของผู้ทำธุรกรรมจะต้องถูกบันทึกไว้ โดยข้อมูลดังกล่าวขอลูกค้านั้นจะต้องได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี โดยผู้เชี่ยวชาญมีหน้าที่เพิ่มเติมเล็กน้อยในการรายงานธุรกรรมที่น่าสงสัย หรือธุรกรรมที่เป็นเงินสดมูลค่า 2,000,000 บาทขึ้นไป ซึ่งในข้อกำหนดต่าง ๆ นั้นทางสมาคมการค้าผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งประเทศไทย ได้ส่งเสริมให้มีการสนทนากันระหว่างตัวกลางซื้อขาย สำนักงาน ก.ล.ต. และทาง AMLO อยู่เสมอหากมีกฎระเบียบใด ๆ เข้ามาเพิ่มเติม