ประวัติศาสตร์ด้านราคาของ Bitcoin
Bitcoin ผ่านประสบการณ์ด้านราคามาอย่างโชกโชนในตลอดช่วงอายุ
Bitcoin ผ่านประสบการณ์ด้านราคามาอย่างโชกโชนในตลอดช่วงอายุ
ในบรรดาสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ นั้น Bitcoin ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีประวัติการซื้อขายที่ผันผวนที่สุดประเภทหนึ่ง โดยการเพิ่มขึ้นของราคาครั้งแรกของคริปโตเกิดขึ้นในปี 2010 เมื่อมูลค่าของ 1 Bitcoin ได้เพิ่มขึ้นจาก $0.0008 ไปเป็น $0.08 อย่างรวดเร็ว และนับตั้งแต่นั้นมาที่ราคาของ Bitcoin ก็เปรียบเสมือนรถไฟเหาะในหลายครั้งหลายคราด้วยกัน ซึ่งบางคนก็เปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของราคาคริปโตว่าเหมือนกับแฟชั่นของ Beanie Babies* ในช่วงปี 1980 และในขณะที่บางคนก็เปรียบเทียบ Bitcoin กับ Dutch Tulip Mania* ในศตวรรษที่ 17
การเปลี่ยนแปลงราคาของ Bitcoin นั้นก็ได้สะท้อนถึงความกระตือรือร้นของนักลงทุน หรือแม้แต่ความขัดเคืองในคำมั่นสัญญาของการสร้าง Bitcoin ซึ่งสิ่งที่ Satoshi Nakamoto ระบุไว้ว่า Bitcoin นั้นออกแบบมาเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรมรายวัน และเป็นช่องทางการหลีกเลี่ยงโครงสร้างพื้นฐานทางธนาคารแบบดั้งเดิมหลังจากการล่มสลายทางการเงินในปี 2008 และถึงแม้ว่าคริปโตจะยังไม่ได้รับความสนใจจากกระแสหลักในฐานะสกุลเงินก็ตามที แต่มันก็ได้หยิบยกประเด็นขึ้นมาผ่านการเล่าเรื่องที่แตกต่างออกไป ตัวอย่างเช่น ต้องการที่จะเป็นตัวจัดเก็บมูลค่าและป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อได้อย่างสมบูรณ์
ถึงแม้ว่าการเล่าเรื่องใหม่นี้อาจพิสูจน์ได้ว่าระบบการทำงานของมันมีความโปร่งใสมากกว่าก็ตาม แต่ความผันผวนของราคาในอดีตส่วนใหญ่เกิดจากนักลงทุนรายย่อยและผู้ค้าที่เดิมพันในราคาที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีเหตุผลหรือข้อเท็จจริงมากนักในการเดิมพันดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามเรื่องราวราคาของ Bitcoin ก็ได้เปลี่ยนไปในช่วงที่ผ่านมานี้ เป็นเพราะนักลงทุนสถาบันที่กำลังหลั่งไหลเข้ามา รวมไปถึงแนวโน้มของตลาดคริปโตที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีหน่วยงานกำกับดูแลที่กำลังสร้างกฎเกณฑ์สำหรับคริปโตโดยเฉพาะอีกด้วย
Beanie Babies* หรือตุ๊กตายัดไส้เมล็ดถั่ว ที่จะมีการออกคอลเลคชั่นตุ๊กตารุ่นใหม่บ่อยครั้งมาก
Dutch Tulip Mania* หรือเหตุการณ์คลั่งทิวลิปของชาวดัตช์ ที่ราคาทิวลิปสายพันธุ์ใหม่แพงกว่าราคาบ้าน
ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤตฟองสบู่แตกครั้งแรกของโลก
ส่วนใหญ่แล้วนักลงทุน Bitcoin ที่ประสบปัญหาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้นอกจากเรื่องความผันผวนรายวันแล้วนั้น พวกเขายังต้องต่อสู้กับปัญหามากมายที่มันได้สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศของเครือข่าย ตั้งแต่การหลอกลวงและฉ้อฉลมากมายไปจนถึงการไม่มีกฎระเบียบที่ส่งผลต่อความผันผวน ถึงแม้จะมีปัญหาทั้งหมดนี้แต่ก็ยังมีช่วงเวลาที่ราคาคริปโตได้เอาชนะการความผันผวนตามปกติของตนเองได้เช่นกัน และมันส่งผลให้เกิดฟองสบู่ราคามหาศาลได้อีกด้วย
Credit Price Chart: in2013dollars.com/bitcoin-price
– กรณีแรกเกิดขึ้นในปี 2011 ราคาของ Bitcoin เพิ่มขึ้นจาก $1 ในเดือนเมษายนของปีนั้นไปสู่ระดับสูงสุดที่ $32 ในเดือนมิถุนายน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 3,200% ภายในระยะเวลาสามเดือนเท่านั้น แต่การเพิ่มขึ้นที่สูงชันก็มักตามมาด้วยภาวะถดถอยอย่างรวดเร็วในตลาด ที่ทำให้ราคา Bitcoin ถึงจุดต่ำสุดที่ $2 ในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้มีการปรับปรุงระบบเล็กน้อยในปีต่อมา และทำให้ราคาเพิ่มขึ้นจาก $4.80 ในเดือนพฤษภาคมไปเป็น $13.20 ภายในวันที่ 15 สิงหาคมของปีเดียวกัน รูปภาพต่อไปนี้จะเป็นการแสดงราคาของ Bitcoin ของวันที่ 1 ในแต่ละเดือนของปี 2011
Credit Price Chart: in2013dollars.com/bitcoin-price
– กรณีต่อมาของปี 2013 ถือเป็นปีที่สำคัญสำหรับราคาของ Bitcoin ซึ่งเริ่มซื้อขายกันในราคา $13.40 และได้เกิดราคาฟองสบู่ถึงสองครั้งภายในปีเดียว โดยเหตุการณ์แรกเกิดขึ้นเมื่อราคาได้พุ่งสูงถึง $220 ในต้นเดือนเมษายน แน่นอนว่าการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นตามมาด้วยการชะลอตัวของราคาอย่างรวดเร็วพอ ๆ กัน และราคาของ Bitcoin ได้เปลี่ยนมือไปที่ $70 ในกลางเดือนเดียวกันอีกด้วย แต่นั่นก็ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของ Bitcoin ในปี 2013 แน่นอนว่าได้เกิดการพุ่งสูงของราคาอีกครั้ง (ตามมาด้วยการชะลอตัว) เกิดขึ้นในช่วงปลายปีนั้น โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่มีการซื้อขาย Bitcoin อยู่ที่ราคา $123.20 แต่ในเดือนธันวาคมก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น $1,156.10 และจากนั้นก็ได้ตกลงมาอยู่ที่ประมาณ $760 ภายใน 3 วันต่อมาเท่านั้น โดยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังกล่าวก็ได้ส่งสัญญาณการเริ่มต้นของความตกต่ำของราคา Bitcoin เป็นเวลาหลายปีด้วยกัน และในปี 2015 นั้นก็ได้แตะระดับราคาต่ำสุดที่ $315 อีกด้วย รูปภาพต่อไปนี้จะเป็นการแสดงราคาของ Bitcoin ของวันที่ 1 ในแต่ละเดือนของปี 2013
Credit Price Chart: in2013dollars.com/bitcoin-price
– เหตุการณ์ราคาฟองสบู่ครั้งที่ 5 เกิดขึ้นในปี 2017 โดยราคาของ Bitcoin อยู่ที่ประมาณ $1,000 ในช่วงต้นปี และหลังจากนั้นราคาก็ขยับขึ้นลงในช่วงสั้น ๆ จนถึงวันที่ 17 ธันวาคมราคาก็ได้พุ่งขึ้นไปที่ $20,089 ซึ่งถือว่าเป็นการขยับของราคาขึ้นอย่างน่าทึ่ง และด้วยเหตุการณ์นี้ทำให้ Bitcoin อยู่ในสปอร์ตไลท์กระแสหลักได้อย่างมั่นคง ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลและนักเศรษฐศาสตร์สังเกตเห็นและริเริ่มที่จะพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตนเองมาแข่งขันกับ Bitcoin อีกด้วย โดยมีนักวิเคราะห์ได้ออกมาถกเถียงถึงมูลค่าของมันในฐานะสินทรัพย์ ในขณะเดียวกันก็มีผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุนจำนวนมหาศาลได้ทำการคาดการณ์ราคาอย่างสุดโต่ง
– ราคาของ Bitcoin ในอีก 2 ปีต่อมานั้น (2019) อยู่ในช่วงที่เรียกว่า Sideway (ขยับไปข้างหน้าช้า ๆ แบบคงที่) ถึงแม้จะดูเหมือนชีพจรที่ขาดไปแล้วแต่ก็ยังมีสัญญาณของชีวิต ตัวอย่างเช่น ในเดือนมิถุนายน ปี 2019 ได้มีการฟื้นตัวของราคาและปริมาณซื้อขาย ซึ่งราคาของมันได้ทะลุ $10,000 ทำให้เกิดความหวังอีกครั้งที่จะพุ่งขึ้นไปต่อ แต่สุดท้ายราคาก็ตกลงมาอยู่ที่ $7,112.23 ในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน
– จนกระทั่งถึงปี 2020 เมื่อเศรษฐกิจปิดตัวลงเนื่องจากการระบาดของโรคครั้งใหญ่ และราคาของ Bitcoin ก็ได้กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยในช่วงต้นปีนั้นราคาของ Bitcoin อยู่ที่ $7,200 และเนื่องจากมีเหตุการณ์ของโรคระบาดที่รวมไปถึงนโยบายของรัฐที่ตามมานั้น จึงส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก และมันได้เร่งให้ราคาของ Bitcoin เพิ่มสูงขึ้นเป็น $18,353 ในปลายเดือนพฤศจิกายนของปีดังกล่าว
– เหตุการณ์จากการระบาดส่งผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงปี 2021 ความสนใจของนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ต่อคริปโตอย่าง Bitcoin ก็ได้หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ราคา Bitcoin ที่อยู่ต่ำกว่า $24,000 ในเดือนธันวาคม ปี 2020 ได้เพิ่มขึ้นถึง 224% จากเมื่อต้นปี และต่อมาภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน Bitcoin ก็ได้ทำลายสถิติราคาก่อนหน้าและยืนพื้นที่ราคาเกิน $40,000 ในเดือนมกราคม ปี 2021 ซึ่งในปีนี้ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ค่อนข้างผันผวนอย่างมาก โดยราคาของ Bitcoin ได้ทำสถิติราคาใหม่มากกว่า $60,000 ในเดือนพฤษภาคม และแน่นอนว่าการพุ่งขึ้นของราคาก็ย่อมมาพร้อมกับการชะลอตัว จึงทำให้ราคาของ Bitcoin ตกลงมาต่ำสุดอยู่ที่ $31,000 เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้ก่อนจะขึ้นมาอยู่ที่ $40,000 ในช่วงปลายเดือนเดียวกัน
ความแปลกใหม่ของ Bitcoin ในฐานะสินทรัพย์นั้นยังคงเป็นเรื่องราวที่ถูกกล่าวถึงอยู่ตลอดเวลา โดยราคาของมันส่วนใหญ่จะเลียนแบบทฤษฎี “Gartner Hype Cycle” ที่เป็นเครื่องมือทำนายอนาคตวัฏจักรของราคาโดยนักการตลาด เนื่องด้วยโฆษณาที่เกินจริงเกี่ยวกับศักยภาพของมันและรวมไปถึงความผิดหวังต่อระบบที่ส่งผลให้เกิดการร่วงหล่นของราคา โดยในโครงสร้างของวัฏจักรนั้นการเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ มักมีความสำคัญต่อการจัดหาเงินทุนและขับเคลื่อนวิวัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่ ดังนั้นการเพิ่มขึ้นและลดลงของราคา Bitcoin ในแต่ละครั้งมักเกี่ยวข้องกับข้อบกพร่องของระบบนิเวศภายในเครือข่ายของตนเอง รวมไปถึงการจัดหาเงินทุนใหม่ ๆ ให้กับนักลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วยเช่นเดียวกัน
การวิเคราะห์ราคาของ Bitcoin ก่อนหน้านี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ราคาของ Bitcoin ที่พุ่งขึ้นสูงนั้นเป็นเพราะฟังก์ชันการวัดความเร็วของเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ (Velocity) หรือเป็นเพราะผู้คนใช้เป็นสกุลเงินสำหรับการทำธุรกรรมและการซื้อขายรายวันกันแน่ แต่อย่างไรก็ตามปริมาณการซื้อขายนั้นยังคงเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินดั้งเดิม อีกทั้งผู้คนก็ไม่เคยใช้ Bitcoin เป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรมรายวันอีกด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับ Bitcoin ในฐานะการเป็นแหล่งจัดเก็บมูลค่า โดยเน้นไปที่การถือครองเป็นระยะเวลานานแทนที่จะนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
“มูลค่ารวมตามตลาดของ Bitcoin อยู่ที่ 28.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นกว่า 40.5% จากมูลค่าตลาดโดยรวม”
ในช่วงแรกเริ่มของ Bitcoin นั้นมีสภาพคล่องและนักลงทุนน้อยมากในตลาดคริปโต จึงทำให้ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดต่อตลาดก็จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะนักลงทุนต้องแบกรับความเสี่ยงกันเองในวงแคบ ๆ เท่านั้น โดยเหตุการณ์ที่สามารถนำไปสู่ความผันผวนของราคาได้นั้นมีอยู่หลายเหตุการณ์ด้วยกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อนักลงทุนตั้งคำสั่งขายเป็นปริมาณมาก, คำสั่งยุติการให้บริการของตลาดแลกเปลี่ยน, การเพิ่มขึ้นและลดลงของจำนวนตลาดแลกเปลี่ยน และบุคคลหรือสถาบันที่ถือครอง Bitcoin ไว้ในปริมาณมาก เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ต่างก็มีอิทธิพลต่อราคาของ Bitcoin ทั้งสิ้น
ในกรณีที่เคยโด่งดังในยุคแรกเริ่มนั้น มีตลาดแลกเปลี่ยนแห่งแรกของโลกที่ชื่อว่า “Mt.Gox” ได้มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของราคา Bitcoin อย่างรุนแรงในปี 2014 ซึ่งราคาของ Bitcoin ร่วงลงจาก $850 ไปสู่ $580 คิดเป็น 32% ด้วยกัน ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจาก Mt.Gox ประกาศว่าทางบริษัทนั้นได้สูญเสีย Bitcoin ไปกว่า 850,000 BTC จากการโดนแฮ็ก และหลังจากเหตุการณ์นี้บริษัทก็ได้ถูกฟ้องล้มละลายในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2014 ซึ่งความจริงแล้วก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคม ปี 2013 ก็มีข่าวลือออกมาว่า Mt.Gox มีการบริหารจัดการที่ไม่ดีและมีระบบความปลอดภัยที่แย่มากอีกด้วย
ปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อราคาของ Bitcoin ในช่วงแรกเริ่มนั่นคือการได้รับแรงสนับสนุนจากธุรกิจค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ ซึ่งมีเหตุการณ์ที่ราคาของ Bitcoin ที่ได้ทะลุไปถึง $1,000 ในเดือนมกราคม ปี 2014 เนื่องมาจากธุรกิจค้าปลีกออนไลน์อย่าง Overstock ประกาศว่าจะเริ่มรับ Bitcoin เป็นวิธีการชำระเงินอีกช่องทางหนึ่งด้วย
ยิ่งตลาดคริปโตเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นไปได้ว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย
สื่อกระแสหลัก: เมื่อไม่นานมีนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาของ Bitcoin ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเริ่มต้นจากเหตุการณ์ในปี 2017 ที่เมื่อ Bitcoin ได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลักมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนากฎระเบียบของเครือข่ายได้ส่งผลกระทบต่อราคาของตัวมันเอง อีกทั้งมันได้ขยายขอบเขตการเข้าถึงให้ง่ายยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลักก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นด้านบวกหรือด้านลบ ซึ่งคำประกาศด้านกฎระเบียบที่ได้รับการพัฒนานั้น จะเป็นตัวตัดสินว่านักลงทุนและสื่อหลักจะตอบสนองไปในทิศทางใด และยังรวมไปถึงการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของราคา Bitcoin ได้เช่นเดียวกัน
นักลงทุนสถาบัน: ความสนใจจากนักลงทุนสถาบันได้ทำให้ราคาของ Bitcoin เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ Bitcoin ก็ได้หันเหความสนใจจากที่มีแค่เพียงนักลงทุนรายย่อย แต่ตอนนี้มันได้กลายเป็นสินทรัพย์ประเภทที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งนี้ได้ถูกตีความว่าเป็นการพัฒนาที่น่าพึงพอใจ เพราะมันจะทำให้เกิดสภาพคล่องมากขึ้นในระบบนิเวศของ Bitcoin อีกทั้งยังสามารถลดความผันผวนของราคาลงได้อีกด้วย
การพุ่งขึ้นของราคาครั้งใหญ่ล่าสุดเมื่อปลายปี 2020 นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่มีบุคคลที่น่านับถือด้านการเงินหลายคนด้วยกัน ได้พูดถึงศักยภาพในการพัฒนาตนเองของ Bitcoin ในการเป็นแหล่งจัดเก็บมูลค่า ที่สามารถป้องกันภาวะเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงการระบาดครั้งใหญ่ได้ และยังรวมไปถึงการใช้ Bitcoin สำหรับการบริหารเงินในบริษัทชั้นนำต่าง ๆ นั้นก็ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นและมีความแข็งแกร่ง ตัวอย่างเช่น MicroStrategy Inc. (MSTR) และ Square Inc. (SQ) ซึ่งทั้งสองบริษัทได้มีการประกาศออกมาอย่างชัดเจนในปี 2020 ที่ผ่านมานี้ว่า มีความมุ่งมั่นที่จะใช้ Bitcoin แทนเงินสดโดยจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของคลังบริษัทอีกด้วย
การพัฒนาของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง: ถือเป็นอิทธิพลหลักอย่างที่ 3 ต่อราคาของ Bitcoin ซึ่งรากฐานที่เป็นเอกลักษณ์ของ Bitcoin ที่ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและการเงิน นั่นหมายความว่าการพัฒนานั้นจะเกี่ยวข้องกับทั้งสองอุตสาหกรรมดังกล่าว ตัวอย่างเช่น การประกาศเปิดตัวซื้อขาย Bitcoin แบบ Futures ในตลาดกลางซื้อขายและสัญญาอนุพันธ์รายใหญ่ของโลก (Chicago Mercantile Exchange: CME และ Chicago Board Options Exchange: CBOE) ซึ่งทั้งสองตลาดได้ช่วยดันราคาของ Bitcoin ให้เข้าใกล้ระดับ $20,000 ในปี 2017 อีกด้วย
โปรโตคอล Halving ของ Bitcoin: ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญด้วยเช่นกัน ซึ่งอุปทานหมุนเวียนของ Bitcoin ในตลาดได้ลดลงเนื่องมาจากผลตอบแทนที่ผู้ขุดได้รับก็ลดลงจากการ Halving แต่อย่างไรก็ตามมันทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นได้ โดยราคาของ Bitcoin ตั้งแต่การ Halving ในเดือนพฤษภาคม ปี 2020 นั้นได้เพิ่มขึ้นเกือบ 300% ด้วยกัน ซึ่งเหตุการณ์การ Halving ครั้งก่อนหน้าในปี 2012 และ 2016 ก็ได้ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ 8000% และ 600% ตามลำดับ และถึงแม้ว่าการ Halving นั้นจะทำให้ผลตอบแทนที่ผู้ขุดได้รับลดลงครึ่งหนึ่ง แต่มันได้เพิ่มอัตราส่วนสต็อกต่อการไหลของ Bitcoin เป็นสองเท่าอีกด้วย
ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจโลก: เป็นปัจจัยสุดท้ายที่สามารถบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงราคาของ Bitcoin ได้เช่นกัน ซึ่งนับตั้งแต่การก่อตั้งคริปโตนั้น ได้มีการวางตำแหน่งตัวเองว่าเป็นช่องทางป้องกันความเสี่ยงจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐิจในท้องถิ่นและสกุลเงินดั้งเดิมที่ควบคุมโดยรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตามมีรายงานว่ามีช่วงเวลาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นบนเครือข่าย Blockchain ของ Bitcoin หลังจากที่เศรษฐกิจประสบปัญหาอันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ประเทศเวเนซุเอลาที่ประสบปัญหาเงินเฟ้อสูงในสกุลเงินของประเทศ ซึ่งทำให้ผู้คนในประเทศหันมาใช้ Bitcoin กันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในการทำธุกรรมและจัดเก็บมูลค่าของสินทรัพย์ตนเอง ซึ่งด้วยสิ่งนี้ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่าราคาของคริปโตที่เพิ่มขึ้น และความวุ่นวายของเศรษฐกิจทั่วโลกนั้นมีความเชื่อมโยงกัน ตัวอย่างเช่น การควบคุมเงินทุนสำรองที่ประกาศโดยรัฐบาลจีน มักจะมาพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของราคา Bitcoin เสมอ รวมไปถึงการประกาศชัตดาวน์ในปี 2020 สาเหตุมาจากโรคระบาดนั้นทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมหภาคในระดับโลก และส่งผลให้ราคาของ Bitcoin เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ด้วยเช่นกัน
Q: Bitcoin เริ่มซื้อขายครั้งแรกที่ราคาเท่าไหร่?
A: Bitcoin เริ่มซื้อขายครั้งแรกที่ราคาประมาณ $0.0008 ถึง $0.08 ในเดือนกรกฎาคม ปี 2010
Q: 1 Bitcoin มีมูลค่าเท่าไหร่ในปี 2009 ?
A: มูลค่าของ 1 Bitcoin ในขณะเปิดตัวครั้งแรกในปี 2009 นั้นเท่ากับ $0
Q: Bitcoin มีราคาสูงสุดอยู่ที่เท่าไหร่?
A: Bitcoin มีราคาสูงสุดล่าสุดอยู่ที่ประมาณ $64,000 เมื่อวันที่ 13 เมษายน ปี 2021
Q: Bitcoin จะมีมูลค่าเท่าไหร่ในปี 2030 ?
A: การคาดการณ์มูลค่าในอนาคตของ Bitcoin นั้นจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ประมาณการ ซึ่งตามที่ Jeremy Liew หุ้นส่วนหลักของ Lightspeed Venture Partners ได้ระบุว่าราคาของ Bitcoin สามารถไปถึง $500,000 ต่อเหรียญในปี 2030 และตามรายงานการวิจัยคริปโตประจำเดือนมิถุนายน ปี 2020 นั้นได้ระบุว่า Bitcoin จะสามารถทะลุ $397,000 ภายในปี 2030 โดยแน่นอนว่ามันเป็นเพียงแค่การคาดการณ์เท่านั้น แต่จะเป็นความจริงตามนั้นหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้แน่ชัด