ข่าวข่าวการเมือง

ม็อบ17พฤศจิกา เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมที่ขัดต่อหลักสากล

#ม็อบ17พฤศจิกา เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมที่ขัดต่อหลักสากล
วันนี้ (17 พฤศจิกายน 2563) ตามที่แกนนำการชุมนุมกลุ่มต่างๆ ได้มีการนัดหมายชุมนุมบริเวณรัฐสภา เกียกกาย มีเหตุการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุม (ม็อบ) กับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเหตุการณ์ปะทะกันเริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 14.13 น. หลังทีมการ์ดผู้ชุมนุม หรือ กลุ่มมวลชนอาสา (We Volunteer) ได้เก็บรื้อเครื่องกีดขวาง อาทิ รั้วลวดหนามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เจ้าหน้าที่ได้ตอบโต้ด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูงที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองใส่กลุ่มการ์ดและมีการประกาศว่า หากไม่ถอยจะใช้กระสุนยาง
ต่อมา ในเวลา 15.11 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังมีการใช้รถน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำผสมสารที่สร้างความระคายเคืองใส่ผู้ชุมนุม และยังมีรายงานเจ้าหน้าที่ใช้รถน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมล่วงไปจนถึงเวลา 19.22 น. โดยมีการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นระยะๆ และหลังจากนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้มีการใช้ปืนยิงแก๊สน้ำตาต่อผู้ชุมนุมอีกหลายครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บแล้วอย่างน้อย 18 คน (ข้อมูลจากวชิรพยาบาล)
อย่างไรก็ดี หากดูหลักสากลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังและอาวุธของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุม ได้แก่
หนึ่ง หลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles of the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ที่รับรองโดยสหประชาชาติครั้งที่ 8 ว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อจำเลย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ถึง 7 กันยายน 2533 ที่กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา ข้อ 12 กำหนดว่า ประชาชนมีสิทธิเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่ชอบด้วยกฎหมายและโดยสงบ ซึ่งถ้าหากมีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ การใช้กำลังนั้นก็จะต้องเป็นไปอย่างจำกัด ตามหลักการ ที่ว่า
  1. หากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หรือหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้ใช้เท่าที่จำเป็น
  2. หากเป็นการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจใช้อาวุธได้ หากไม่สามารถใช้มาตรการอื่นที่อันตรายน้อยกว่านี้ได้
สอง แนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ของ OHCHR ได้กำหนดวิธีการใช้อาวุธแต่ละประเภทไว้ชัดเจน ดังนี้
  • ปืนใหญ่ฉีดน้ำ หรือ Water Canon ออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะสลายการรวมกลุ่ม เพื่อปกป้องทรัพย์สินหรือหยุดพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง โดยทั่วไปแล้ว ปืนใหญ่ฉีดน้ำควรจะใช้ในสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยอย่างร้ายแรง ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะนำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส หรือการทำลายทรัพย์สินอย่างรุนแรงในวงกว้าง “เท่านั้น” โดยวัตถุประสงค์ที่จำเป็นและได้สัดส่วน การตระเตรียมการใช้ปืนใหญ่ฉีดน้ำควรจะต้องวางแผนการอย่างดี และควรใช้ภายใต้คำสั่งที่เคร่งครัด ควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูง รวมถึงการใช้ปืนใหญ่ฉีดน้ำนั้นต้องให้ผลที่ไม่เฉพาะเจาะจง ไม่สามารถใช้แบบเล็งไปที่ตัวบุคคลโดยเฉพาะได้
  • การใช้สารที่ก่อและความระคายเคืองทางเคมี (Chemical Irritants) ต้องใช้จากระยะไกลต่อกลุ่มคนที่เข้าร่วมก่อความรุนแรง มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชุมนุมกระจายตัวและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง
สาม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ข้อ 21 กำหนดว่า สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
จากการติดตามสถานการณ์ของไอลอว์ พบว่าการชุมนุมวันนี้ ยังไม่ปรากฎว่ามีการใช้ความรุนแรงถึงขนาดที่จะกระทบต่อความสงบเรียบร้อยอย่างร้ายแรงจนถึงขั้นอาจนำไปสู่การเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส เนื่องจากการชุมนุมของผู้ชุมนุมในครั้งนี้เป็นไปโดยความสงบ ปราศจากอาวุธ การกระทำของเจ้าหน้าที่จึงถือว่าเป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนอย่างสิ้นเชิง
ที่มาของข่าว : iLaw Facebook Page

ไทยเกอร์นิวส์

นำเสนออัปเดตข่าวสารบ้านเมือง ข่าวล่าสุด มั่นใจว่าคุณจะทันทุกสถานการณ์ ไม่ว่า สังคมเศรษฐกิจ การเงิน การเมือง เรื่องร้อนออนไลน์ ดราม่าดารา อัปเดตบันเทิง ซีรีส์ หนัง เพลง ท่องเที่ยว กีฬา ตรวจหวย เลขเด็ด พร้อมเสิรฟ์ทุกเรื่องยาก ๆ ย่อยให้คุณเข้าใจง่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button