Connect with us

เงินเฟ้อ

ภาวะเงินเฟ้อส่งผลกระทบอะไรบ้างและมีการแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง

เงินเฟ้อคืออะไร

เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ระดับสินค้าโดยทั่วไปมีค่าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ในระยะเวลาหนึ่ง จำเป็นต้องสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยอาจมีสินค้าบางชนิดราคาสูงขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าบางชนิดคงที่หรือลดต่ำลง แต่เมื่อรวมราคาสินค้าทั้งหมดโดยเฉลี่ยแล้วสูงขึ้น

จุดเด่น

  • บริหารจัดการและวางแผนในเรื่องการเงิน
  • อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดต่ำลงก็อาจจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อได้

ประเภทของเงินเฟ้อ

1. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าและบริการทุกประเภทที่ผู้บริโภคได้บริโภคโดยทั่วไป ทั้งหมวดอาหารและเครื่องดื่มและอย่างอื่น เช่น เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่ง การสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ฯลฯ

2. อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปที่หักจากสินค้า เช่น อาหารสดและพลังงานออก เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความเคลื่อนไหวขึ้นลงตามฤดูกาล และอยู่นอกเหนือการควบคุมของนโยบายการเงิน เหลือแต่รายการสินค้าที่ราคาเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด

คำนวณอัตราเงินเฟ้อ

Fv = Pv * (1+i) ยกกำลัง n

Fv คือ มูลค่าในอนาคต
Pv คือ มูลค่าในปัจจุบัน
i คือ อัตราดอกเบี้ย หรือ อัตราผลตอบแทน
n คือ จำนวนปี

ตัวอย่าง
ปัจจุบันนาย ก. อายุ 30 ปี นาย ก. ต้องการเก็บเงินเกษียณในอีก 30 ปีข้างหน้าซึ่งเกษียณตอนอายุ 60 ปี และใช้ชีวิต ปัจจุบันนาย ก. มีค่าใช้จ่าย 30,000 บาทต่อเดือน โดยเงินเฟ้อ ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ แล้วนาย ก. คิดว่าจะเก็บเงินให้พอใช้ถึงอายุ 80 ปี ซึ่งก็คือใช้หลังเกษียณอีก 20 ปี จะเก็บเงินเท่าไรดีถึงจะพอใช้

ขั้นแรกต้องลองคิดดูก่อนว่า 3 หมื่นบาท ในวันนี้ จะมีค่าเท่าไรในอีก 30 ปีข้างหน้า

Fv = 30,000 คูณ ( (1+0.03) ยกกำลัง 30 ) = 72,818 บาท

แสดงว่าต้องมีเงิน 72,818 บาทเพื่อใช้ชีวิตเหมือนตอนปัจจุบันที่ใช้เงินเพียง 30,000 บาท โอ้โห เกิน 2 เท่าเลยนะเจ้าคะ โหดมาก แต่มันคือเรื่องจริง

แล้วเงินก้อนที่จะใช้อีก 20 ปี ก็คูณเอาเลย 72,818 * 12 * 20 = 17,476,320 บาท 17 ล้าน ตีไป 18 ล้านบาท ถ้าไม่เริ่มเก็บวันนี้ รับรองว่าปัญหาใหญ่เกิดแน่นอน

ภาวะเงินเฟ้อที่ส่งผลดีคือการมีเงินเฟ้อแบบอ่อน เนื่องจากช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจให้ขยายตัว

เงินเฟ้อ เกิดจากสาเหตุอะไร

1. คนมีความต้องการซื้อสินค้ามากขึ้น สาเหตุนี้จะเกิดจากฝั่งผู้ซื้อหรือผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ที่ต้องการสินค้ามากกว่าที่ตลาดมีขาย จนทำให้สินค้าไม่เพียงพอ ผลิตไม่ทัน ดังนั้นคนขายจึงถือโอกาสนี้ปรับขึ้นราคาสินค้า เพื่อให้สมดุลกับความต้องการ และแม้ว่าราคาสินค้าจะแพงขึ้น แต่คนก็ยังต้องการซื้ออยู่ดี เหตุการณ์แบบนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อคนในประเทศรวยขึ้น มีรายได้มากขึ้น เป็นต้น

2. ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น อีกหนึ่งสาเหตุหลักๆของการเกิดเงินเฟ้อ คือมาจากฝั่งผู้ผลิตหรือผู้ขาย ในกรณีที่ต้นทุนสูงขึ้น เช่น มีการขึ้นค่าแรง วัตถุดิบแพงขึ้น น้ำมันขึ้นราคาทำให้ค่าขนส่งแพงขึ้น โดนเก็บภาษีสูงขึ้น เป็นต้น เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ ทำให้ผู้ผลิตหรือผู้ขายจึงจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตาม เป็นเหตุให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมา

การที่เงินเฟ้อสูงเกินไปถือว่าไม่ดีเพราะคาดการณ์อนาคตไม่ได้ วางแผนธุรกิจวางแผนการเงินการลงทุนได้ยาก หากเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงมากอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบจากเงินเฟ้อ

1. ผลต่อประชาชน
– รายจ่ายหรือภาระค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ประชาชนมีอำนาจซื้อน้อยลง และมีความสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าหรือบริการได้น้อยลง
– อัตราเงินเฟ้อยิ่งสูงจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่หักเงินเฟ้อออก หรือที่เรียกว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะมีค่าลดลงไปด้วย เนื่องจากดอกเบี้ยที่เราได้รับเอาไปใช้ซื้อของได้น้อยลง ยกตัวอย่าง กรณีที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 1.5% ต่อปี แต่หากอัตราเงินเฟ้อหรือราคาเพิ่มขึ้นมา 1% อาจกล่าวได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงหรือผลตอบแทนสุทธิที่ได้รับจริงๆ อยู่ที่ 0.5% ต่อปีเท่านั้น

2. ผลต่อผู้ประกอบการ / นักธุรกิจ
– เมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้น ยอดขายก็จะลดลง ในขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตก็จะสูงขึ้นด้วย ส่งผลให้เจ้าของธุรกิจบางรายอาจตัดสินใจชะลอการผลิต ลดการลงทุนและการจ้างงาน ทำให้มีคนตกงานมากขึ้น
– ความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศลดลง เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกของเราจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับราคาสินค้าออกของประเทศอื่นๆ

3. ผลต่อประเทศ
– ในภาวะที่ประชาชนซื้อของน้อยลง ธุรกิจไม่สามารถขายของได้ การลงทุนเพื่อผลิตสินค้าก็จะชะลอออกไป ทำให้การพัฒนาศักยภาพการผลิตของประเทศในระยะยาวอาจชะลอลงตามไปด้วย
– ถ้าอัตราเงินเฟ้อสูงจนทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบนานๆ ประชาชนก็จะหันไปเก็งกำไรในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง สะสมปัญหาฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ (asset price bubble) และความไม่สมดุลในภาคการเงินของประเทศได้ เช่น หนี้ครัวเรือน

แนวทางแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ

1. ใช้นโยบายทางการเงิน โดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพื่อลดปริมาณเงินในมือประชาชนให้น้อยลง ทำให้ปริมาณความต้องการในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคลดลงนอกจากนี้ยังเพิ่มการขายพันธบัตรรัฐบาลให้ธนาคารพาณิชย์และประชาชนมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ลดการรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลคืนจากประชาชนและลดการขยายเครดิต หรือปล่อยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์

2. ใช้นโยบายการคลัง โดยเพิ่มการเก็บภาษีจากประชาชน ใช้งบประมาณแบบเกินดุล คือ ลดรายจ่ายภาครัฐให้น้อยลง แต่เพิ่มรายได้ของรัฐบาลโดยการเก็บภาษีให้มากขึ้น เพื่อลดปริมาณเงินในมือประชาชนให้น้อยลง

ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ

ประเภทของสินเชื่อ

คู่มือยอดนิยมสำหรับการเงิน