จัดเก็บ Bitcoin อย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด?
เป็นเจ้าของคริปโตอย่างปลอดภัย เลือกการจัดเก็บที่เหมาะกับสไตล์ของคุณ
เป็นเจ้าของคริปโตอย่างปลอดภัย เลือกการจัดเก็บที่เหมาะกับสไตล์ของคุณ
หลังจากที่ Bitcoin ได้แตะจุดสูงสุดในช่วงปลายปี 2017 และจากนั้นก็ค่อย ๆ จางหายไปจากความนิยมที่เคยได้รับ ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้ประสบกับการเพิ่มขึ้นอีกครั้งอย่างมีนัยสำคัญในปี 2019 และต่อเนื่องมาจนถึงกลางปี 2021 ด้วยมูลค่าบวกกับความนิยมที่เพิ่มสูงกว่าระดับสูงสุดตลอดกาลในครั้งก่อน จึงส่งผลให้มีความพยายามในการแฮ็กก็ได้เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากมีนักลงทุนจำนวนมากที่ยังใหม่ต่อระบบ และอาจไม่รู้ว่าจะรักษาการลงทุนของตนเองอย่างไรให้ปลอดภัย ดังนั้นแฮ็กเกอร์จึงใช้จุดอ่อนตรงนี้ในการคิดหาวิธีโจรกรรมอย่างชาญฉลาด โดยปรากฎให้เห็นวิธีการโจรกรรมขึ้นมาอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น การแฮ็กที่ทำการเปลี่ยนเส้นทางของโทเคนที่ได้ผูกไว้กับ Wallet หนึ่งถูกส่งไปยังอีก Wallet อย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งเหยื่อมองเห็นโทเคนที่ได้ถูกโจรกรรมไปอย่างซึ่งหน้าจากพวกเขา แต่พวกเขากลับไม่สามารถทำอะไรเพื่อหยุดยั้งหรือแก้ไขมันได้เลย
ขณะที่เราเก็บเงินสดหรือบัตรไว้ในกระเป๋าเงินทางกายภาพนั้น ในทางเดียวกัน Bitcoin ของเราก็สามารถเก็บไว้ในกระเป๋าเงินดิจิทัลที่อาจเป็นรูปแบบของ Hardware หรือ Web-based ก็ได้เหมือนกัน ซึ่ง Digital Wallet นั้นสามารถอยู่บนอุปกรณ์พกพา บนเดสก์ท็อปของคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่การเก็บ Private Key กับ Address ไว้บนกระดาษก็ได้ แต่ Digital Wallet เหล่านี้ปลอดภัยแค่ไหน? เราจะมั่นใจได้อย่างไร? โดยคำตอบเหล่านี้ขึ้นอยู่กับวิธีที่ผู้ใช้จัดการกับ Wallet ของตนเอง
Wallet ทุกประเภทจะมีชุดรหัส หรือ Private Key + Address ที่มีแค่เจ้าของเท่านั้นสามารถเข้าถึงได้ แต่ในทางกลับกันผู้ใช้แต่ละคนก็มีโอกาสที่จะสูญเสีย Private Key หรือถูกขโมยได้ ซึ่งหากไม่มี Private Key ผู้ใช้ก็จะไม่มีโอกาสได้เห็น Bitcoin ของตนเองอีกเลย โดยนอกจากการทำ Private Key หายแล้วนั้น ผู้ใช้ยังสามารถสูญเสีย Bitcoin ได้จากการทำงานที่ผิดพลาดของคอมพิวเตอร์ (ที่ทำให้ฮาร์ดไดรฟ์ชำรุด) การแฮ็กเพื่อโจรกรรม หรือแม้แต่การสูญเสียคอมพิวเตอร์ที่มี Digital Wallet อยู่ภายในได้เช่นเดียวกัน โดยข้อมูลด้านล่างนี้จะเป็นวิธีต่าง ๆ ในการจัดเก็บ Bitcoin อย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด
Hot Wallet หรือกระเป๋าเงินออนไลน์ คือ Wallet ที่ทำงานอยู่บนอุปกร์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ หรือแท็ปเล็ต เป็นต้น ซึ่งสิ่งนี้สามารถสร้างช่องโหว่ได้เนื่องจาก Wallet ประเภทนี้จะสร้าง Private Key ของคุณบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถึงแม้ว่า Hot Wallet จะมีความสะดวกมากในการเข้าถึง และทำธุรกรรมกับสินทรัพย์ของคุณได้อย่างรวดเร็วก็ตาม แต่ถึงอย่างไรนั้นก็ยังขาดความปลอดภัยที่จำเป็น
อาจฟังดูเป็นเรื่องไร้สาระ แต่สำหรับบางคนที่ใช้ Hot Wallet อาจถูกโจรกรรมสินทรัพย์ออกไปได้ ถึงแม้จะเกิดขึ้นไม่บ่อยนักแต่มันก็สามารถเกิดขึ้นได้หลายวิธี ตัวอย่างเช่น การโอ้อวดในฟอรั่มสาธารณะอย่าง Reddit เกี่ยวกับจำนวน Bitcoin ที่คุณถือครอง ในขณะที่คุณกลับใช้การรักษาความปลอดภัยเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลยด้วยการจัดเก็บไว้ใน Hot Wallet สิ่งนี้จึงดูเหมือนจะเป็นพฤติกรรมที่ไม่ฉลาดนัก
Hot Wallet จะเหมาะสำหรับการจัดเก็บคริปโตในจำนวนเล็กน้อยมากกว่า โดยครอบคลุมอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์, เดสก์ท็อปบนคอมพิวเตอร์, Web-based และ Exchange Wallet เป็นต้น อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่ควรทราบคือการถือคริปโตใน Exchange Wallet นั้นจะไม่เหมือนกับการใช้งาน Hot Wallet ส่วนตัวของคุณเอง ซึ่งมีความแตกต่างกันในเรื่องของ Private Key ที่ทาง Exchange จะเป็นผู้จัดเก็บไว้เอง หมายความว่าคุณจะไม่สามารถเข้าถึง Private Key ได้เลย
หากเกิดเหตุการณ์ที่ Exchange ถูกแฮ็ก หรือบัญชีของคุณถูกบุกรุก ที่อาจทำให้เงินของคุณหายไป โดยทั่วไปแล้ว Exchange ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการประกันจาก SPIC หรือ FDIC ที่เป็นสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่แพลตฟอร์มทางการเงินทั่วโลกให้การยอมรับ และด้วยเหตุนี้ทำให้การจัดเก็บคริปโตทั้งหมดอย่างปลอดภัยนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และวลีที่ว่า “Not your keys, Not your coin” ได้ถูกกล่าวถึงอยู่เสมอในฟอรั่มสาธารณะของชุมชนคริปโตนั้นก็ไม่เกินความจริง ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าไม่ควรเก็บคริปโตจำนวนมากไว้ใน Hot Wallet โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีบัญชีกับ Exchange ต่าง ๆ ซึ่งจะขอแนะนำให้คุณถอนเงินส่วนใหญ่ไปยัง Cold Wallet ส่วนตัวของคุณจึงจะปลอดภัยกว่า
ถึงแม้ว่า Hot Wallet จะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตที่อาจเปิดโอกาสให้เกิดการโจมตีได้โดยตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันก็ยังมีประโยชน์มากสำหรับความสามารถในการทำธุรกรรม หรือซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
“สามารถเลือกการจัดเก็บที่เหมาะกับสไตล์ของคุณเองได้”
รูปแบบการจัดเก็บที่เป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยที่สุดก็คือ Cold Wallet โดยคำอธิบายที่ง่ายที่สุดของมันก็คือ “กระเป๋าเงินออฟไลน์” ที่จะไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงน้อยกว่าที่จะถูกโจรกรรมหรือบุกรุกได้ และสำหรับ Cold Wallet นั้นก็มีหลากหลายชนิดด้วยกันให้คุณได้เลือกตามความเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคุณเอง
Cold Wallet จะจัดเก็บ Address และ Private Key ไว้ให้เองบนอุปกรณ์ที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และมักจะมาพร้อมกับซอฟต์แวร์ที่ทำงานควบคู่ไปด้วยกัน เพื่อให้ผู้ใช้สามารถดูพอร์ตการลงทุนได้โดยไม่ต้องเสี่ยงกับการป้อนรหัส Private Key ลงบนอุปกรณ์
สำหรับชนิดของ Cold Wallet ที่อาจจะปลอดภัยที่สุดในการจัดเก็บคริปโตแบบออฟไลน์คือการเก็บไว้กับ Paper Wallet โดยจะสามารถสร้าง Wallet ชนิดนี้ได้ผ่านทางบางเว็บไซต์เท่านั้น ที่จะเป็นขั้นตอนการสร้าง Public Key และ Private Key แล้วจากนั้นให้คุณนำไปพิมพ์ลงบนกระดาษ ซึ่งความสามารถในการเข้าถึงคริปโตในครอบครองจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีกระดาษแผ่นนี้เท่านั้น ในขณะเดียวกันหลายคนก็นำกระดาษแผ่นนี้ไปเคลือบอย่างดี และนำไปเก็บไว้ในตู้นิรัภัยที่ธนาคารหรือแม้แต่ตู้นิรภัยในบ้าน ทั้งนี้ Paper Wallet จะไม่มีส่วนใดที่เชื่อมโยงกับข้อมูลผู้ใช้งาน นอกจากตัวกระดาษที่บรรจุชุดรหัสและเครือข่าย Blockchain เอาไว้เท่านั้น
Cold Wallet ชนิดต่อมาที่มีระดับความปลอดภัยสูสีกับ Paper Wallet ก็คือ Hardware Wallet โดยทั่วไปนั้นจะเป็นอุปกรณ์ภายนอกที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับธัมป์ไดรฟ์หรือ USB ที่มันจะเก็บ Private Key ไว้ให้อย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบกว่า Hot Wallet หลายเท่าตัวเนื่องจาก Hardware Wallet จะไม่มีวันได้รับผลกระทบจากไวรัสที่อาจอยู่ในคอมพิวเตอร์ของคุณ เป็นเพราะว่า Private Key ที่จัดเก็บไว้ภายในจะไม่สามารถสัมผัสกับคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต หรือซอฟต์แวร์ที่อาจมีความเสี่ยง และอุปกรณ์เหล่านี้มักจะถูกออกแบบมาให้เป็นระบบ Open Source ที่จะสามารถให้ผู้ใช้กำหนดระดับความปลอดภัยด้วยตนเองได้เช่นเดียวกัน
Cold Wallet ถือเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดในการจัดเก็บ Bitcoin และคริปโตอื่น ๆ ที่อยู่ในการครอบครองของคุณ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญควบคู่ไปกับความสนใจในการเป็นเจ้าของคริปโตนั้น ก็คือการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดเก็บสินทรัพย์เหล่านี้อย่างไรให้มีความปลอดภัยมากที่สุด
ไม่ว่าจะตัวเลือกใดต้องมีความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือเป็นหลัก
การสำรองข้อมูล: ควรทำการสำรองข้อมูลบน Wallet ของคุณเป็นประจำสม่ำเสมอ ซึ่งหากเกิดกรณีที่คอมพิวเตอร์ของคุณล้มเหลวนั้น ประวัติการสำรองข้อมูลของคุณอาจเป็นวิธีเดียวในการกู้คืนสินทรัพย์ของคุณภายใน Wallet และควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้สำรองไฟล์ wallet.dat ทั้งหมดไว้ จากนั้นแนะนำให้จัดเก็บข้อมูลสำรองไว้บนอุปกรณ์ที่ปลอดภัยมากกว่า 1 อุปกรณ์ เช่น USB, ฮาร์ดไดรฟ์ และบนซีดี เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมตั้งค่ารหัสผ่านที่รัดกุมสำหรับข้อมูลที่ถูกสำรองไว้ด้วยเช่นกัน
อัปเดตซอฟต์แวร์: การทำให้ซอฟต์แวร์ของคุณใหม่อยู่เสมอก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งการไม่อัปเดตซอฟแวร์ให้กับ Wallet อาจทำให้ระบบอ่อนแอจนสามารถตกเป็นเป้าหมายของแฮ็กเกอร์ได้ ในทางกลับกันซอฟต์แวร์ของ Wallet เวอร์ชั่นล่าสุดจะมีระบบความปลอดภัยที่ดีขึ้นกว่าเวอร์ชั่นเดิมอย่างแน่นอน โดยแนะนำว่าให้ทำการอัปเดตซอฟต์แวร์บนอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ หรือระบบปฏิบัติการบนคอมพิวเตอร์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับ Bitcoin ของคุณเอง
Multi-Signature: แนวคิดเกี่ยวกับ Multi-Signature นั้นก็มีความนิยมอยู่บ้างในระดับหนึ่ง โดยระบบของมันจะเกี่ยวข้องกับการอนุมัติสำหรับการธุรกรรมที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะใช้คนจำนวนหนึ่งในการอนุมัติ (3 ถึง 5 คน) ดังนั้นแล้วสิ่งนี้จึงสามารถสร้างข้อจำกัดในการคุกคามของการโจรกรรมได้ เนื่องจากผู้ควบคุมหรือเซิฟเวอร์เพียงตัวเดียวจะไม่สามารถทำธุรกรรมได้สำเร็จ (เช่น การรับหรือส่ง Bitcoin ไปยังอีก Address หนึ่ง) โดยหากมีคนใดคนหนึ่งในกลุ่มต้องการใช้จ่ายหรือส่ง Bitcoin นั้นคนอื่น ๆ ในกลุ่มก็จะต้องทำหน้าที่อนุมัติธุรกรรมให้