Bitcoin คืออะไร?
คริปโตเคอเรนซีตัวแรกของโลก ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมสกุลเงินดิจิทัล
คริปโตเคอเรนซีตัวแรกของโลก ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมสกุลเงินดิจิทัล
Bitcoin เป็นสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอเรนซีสกุลแรก ที่ถูกสร้างขึ้นในเดือนมกราคม ปี 2009 โดยมีแนวคิดต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ระบุอยู่ในเอกสารที่เรียกว่า White Paper ของผู้สร้างลึกลับที่มีนามแฝงว่า Satoshi Nakamoto ซึ่งตัวตนของบุคคลหรือผู้สร้างเทคโนโลยีนี้ยังคงเป็นปริศนาอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยรายละเอียดใน White Paper ส่วนหนึ่งระบุว่า Bitcoin นำเสนอค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ต่ำกว่ากลไกชำระเงินออนไลน์แบบดั้งเดิม และแตกต่างจากสกุลเงินที่ออกโดยรัฐบาล
โดย Bitcoin ใช้คำย่อว่า BTC เป็นคริปโตเคอเรนซีประเภทหนึ่งไม่มีรูปแบบทางกายภาพที่จับต้องได้ มีเพียงข้อมูลในรูปแบบยอดคงเหลือที่เก็บไว้บนบัญชีแยกประเภทสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างโปร่งใส โดยการทำธุรกรรมผ่าน Bitcoin ทั้งหมดจะได้รับการยืนยันด้วยพลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงจำนวนมหาศาล ถึงแม้ว่า Bitcoin จะยังไม่ถูกบัญญัติว่าสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกก็ตามที แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Bitcoin เป็นที่นิยมมากและได้มีแรงกระตุ้นให้เกิดเหล่าคริปโตเคอเรนซีอีกนับร้อยสกุลที่เรียกรวม ๆ ว่า “Altcoin” และยังมีคริปโตเคอเรนซีอีกมากมายที่ไม่ใช่ Altcoin ซึ่งรวมแล้วกว่าหมื่นสกุลในปัจจุบัน
การทำงานของ Bitcoin นั้นขับเคลื่อนด้วยกลุ่มของคอมพิวเตอร์ (เรียกว่า “โหนด” หรือ “นักขุด”) โดยทั้งหมดนั้นจะทำการรันโค้ดของ Bitcoin และประมวลผลการจัดเก็บบน Blockchain อยู่ตลอดเวลา ซึ่งในเชิงเปรียบเทียบ Blockchain นั้นถือได้ว่าเป็นชุดของบล็อก โดยในแต่ละบล็อกจะบรรจุรายการธุรกรรม เนื่องด้วยคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่ใช้ Blockchain มีชุดของบล็อกและรายการธุรกรรมที่เหมือนกัน อีกทั้งยังสามารถมองเห็นบล็อกใหม่ที่เต็มไปด้วยธุรกรรมรายการใหม่อย่างโปร่งใส ดังนั้นจึงไม่มีใครสามารถโกงระบบได้อย่างแน่นอน
ทุกคนสามารถมองเห็นรายการธุรกรรมแบบเรียลไทม์ได้โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ในสถานะ “โหนด” ก็ได้ นอกจากนี้หากมีผู้ไม่ประสงค์ดีต่อรายการธุรกรรมนั้น การที่จะสามารถบรรลุจุดประสงค์ได้จะต้องใช้พลังประมวลผล หรือใช้โหนดในการดำเนินการกว่า 51% ของจำนวนโหนดทั้งหมด รวมไปถึงต้องทำในเวลาใกล้เคียงกัน โดยโหนดของ Bitcoin มีอยู่ประมาณ 16,000 โหนดด้วยกัน (ณ เดือนกรกฎาคม ปี 2021) และจะมีการเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การโจมตีดังกล่าวแทบเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
แต่ถ้าหากมีการโจมตีเกิดขึ้น นักขุด Bitcoin ผู้ที่มีส่วนร่วมบนเครือข่าย Bitcoin ด้วยคอมพิวเตอร์ของพวกเขา จะทำการแยกตัวไปยัง Blockchain ใหม่ทันที ซึ่งทำให้ความพยายามของผู้กระทำผิดนั้นสูญเปล่าและไม่เป็นผลอย่างสิ้นเชิง
18 สิงหาคม ปี 2008
ชื่อโดเมน bitcoin.org ได้รับการจดทะเบียน
31 ตุลาคม ปี 2008
บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto ได้ประกาศไปยัง Cryptography Mailing บนเว็บไซต์ metzdowd.com ว่า “ฉันกำลังสร้างโปรโตคอลเกี่ยวกับระบบเงินสดอิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ที่มีหลักการทำงานแบบ Peer-to-Peer โดยไร้ซึ่งบุคคลที่สาม และตอนนี้เอกสาร White Paper ได้เผยแพร่ไปยังโดเมน bitcoin.org ในหัวข้อ Bitcoin: A Peer-to-Peer Electronic Cash System ” ซึ่งในปัจจุบัน White Paper นั้นได้กลายเป็น Magna Carta หรือกฎบัตรใหญ่ในการทำงานของ Bitcoin
3 มกราคม ปี 2009
บล็อกแรกที่ขุดได้ของ Bitcoin ได้เกิดขึ้นบนโลกดิจิทัล มีชื่อว่า “บล็อก 0” หรือ “บล็อกกำเนิด” และมีข้อความกำกับว่า “The Times 03/Jan/2009 Chancellor on brink of second bailout for banks,” ซึ่งข้อความนี้อาจเป็นหลักฐานว่าบล็อกถูกขุดขึ้นในหรือหลังวันนั้น หรือบางทีอาจเป็นเพียงความเห็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเท่านั้น
8 มกราคม ปี 2009
ซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นแรกของ Bitcoin ได้รับการประกาศไปยัง Cryptography Mailing
9 มกราคม ปี 2009
บล็อก 1 ถูกขุด และการขุด Bitcoin เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง
จำนวนที่จำกัดเพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อในอนาคต
Bitcoin มีอุปทานสูงสุดอยู่ที่ 21 ล้าน Bitcoin โดยในปัจจุบันหมุนเวียนอยู่ในระบบแล้วกว่า 18 ล้าน Bitcoin หมายความว่าจะเหลือ Bitcoin ให้ขุดอีกเพียง 3 ล้าน Bitcoin เท่านั้น โดยจากการคำนวณแล้ว Bitcoin จะถูกขุดครบทั้งหมดในปี 2140 หรืออีกกว่า 119 ปีข้างหน้า
“Bitcoin ผู้บุกเบิกโลกสกุลเงินดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก”
ชื่อ Satoshi Nakamoto ปรากฎขึ้นครั้งแรกในปี 2008 พร้อมกับการเปิดตัว White Paper ที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ในโลกการเงินดิจิทัลที่เขาคิดค้นขึ้น โดยมีคริปโตเคอเรนซีที่ใช้ชื่อว่า ‘Bitcoin’ เป็นหัวใจหลักของรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งเขาได้ระบุข้อบ่งชี้ต่าง ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ไว้หลายหัวข้อด้วยกัน
นับจากวันที่เปิดตัว White Paper ในปี 2008 คำว่า Bitcoin ยังคงเป็นสิ่งที่หลายคนไม่เข้าใจในระบบของมัน จนกระทั่งหนึ่งปีให้หลัง Bitcoin ได้เปิดให้ขุดครั้งแรกผ่านโปรโตคอลที่ Satoshi Nakamoto เป็นคนพัฒนาขึ้น นับแต่นั้นมาคำว่า Bitcoin ก็เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ตัวตนของ Satoshi Nakamoto ก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่ รวมไปถึงมีผู้คนมากมายที่ถูกอ้างว่าเป็นคนในชีวิตจริงที่อยู่เบื้องหลังนามแฝงนี้
โดยมีการกล่าวอ้างถึงบรรพบุรุษของ Bitcoin หรืออย่างน้อยที่สุดก็อาจเป็นเพียงต้นแบบก็ได้ ตัวอย่างเช่น
โดยใน White Paper ของ Bitcoin นั้นได้อ้างถึง Hashcash และ B-money รวมไปถึงงานอื่น ๆ อีกมากมายที่ครอบคลุมสาขาการวิจัยที่หลากหลาย จึงไม่น่าแปลกใจเลยหากบุคคลที่อยู่เบื้องหลังโครงการต่าง ๆ ที่มีชื่อข้างต้นจะได้รับการคาดเดาว่ามีส่วนร่วมในการสร้าง Bitcoin
แรงจูงใจบางประการที่พอจะเป็นไปได้ว่าเหตุใดถึงปกปิดตัวตนผู้สร้าง Bitcoin ไว้เป็นความลับ ประการแรกคือความเป็นส่วนตัว หาก Bitcoin ได้รับความนิยมและกลายเป็นปรากฎการณ์ระดับโลกนั้น อาจส่งผลให้ Satoshi Nakamoto กลายเป็นที่จับตามองจากสื่อและรัฐบาลเป็นอย่างมาก ส่วนอีกประการคือเรื่องศักยภาพของ Bitcoin ที่จะทำให้เกิดการหยุดชะงักของระบบธนาคารและการเงินในปัจจุบัน หาก Bitcoin ถูกนำไปใช้เป็นจำนวนมากและทำให้ระบบของมัรอาจแซงหน้าสกุลเงินดั้งเดิมที่มีอำนาจอธิปไตยของประเทศควบคุมอยู่ก็เป็นได้ ด้วยเหตุดังกล่าวอาจหมายถึงภัยคุกคามต่อสกุลเงินดั้งเดิมที่ใช้อยู่ รวมไปถึงอาจกระตุ้นให้รัฐบาลต้องการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้สร้าง Bitcoin ก็เป็นไปได้
ส่วนเหตุผลอื่นคือเรื่องความปลอดภัย หากดูในปี 2009 เพียงอย่างเดียว บล็อกจำนวน 32,489 บล็อกได้ถูกขุดขึ้นและมีอัตรารางวัล 50 Bitcoin/บล็อก และการแจกจ่าย Bitcoin ทั้งหมดในปี 2009 อยู่ที่ 1,624,500 Bitcoin ซึ่งบางคนอาจสรุปได้ว่ามีเพียง Satoshi หรืออาจมีคนอื่นอีกสองสามคนที่ทำการขุดจนถึงปลายปี 2009 และพวกเขาอาจครอบครอง Bitcoin ส่วนใหญ่ไว้กับตัวเองอยู่จนถึงปัจจุบัน
โดยหากเป็นความจริงว่าผู้สร้างนั้นครอบครอง Bitcoin จำนวนมากไว้ก็อาจกลายเป็นเป้าหมายของอาชญากรได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจาก Bitcoin นั้นไม่เหมือนหุ้นและเงินสดที่มีกฎหมายต่าง ๆ มารองรับ รวมไปถึงมีหน่วยงานกำกับดูแลอยู่ จึงทำให้การไม่เปิดเผยตัวตนอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับ Satoshi ก็เป็นได้
Bitcoin หน่วยสุดท้ายจะถูกขุดขึ้นในปี 2140 ซึ่งอีกกว่า 119 ปีนับจากนี้
Blockchain
ในกรณีของ Bitcoin นั้นข้อมูลบน Blockchain ส่วนใหญ่จะเป็นรายการธุรกรรม ดังนั้น Blockchain จึงเปรียบเสมือนระบบหลังบ้านที่สำคัญของ Bitcoin และสามารถเปิดเผยรายการธุรกรรมเป็นสาธารณะ ให้ทำการตรวจสอบย้อนหลังได้ ตรวจสอบแบบเรียลไทม์ได้ แต่ไม่สามารถทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใด ๆ ได้
เทคโนโลยี Peer-to-Peer
Bitcoin เป็นคริปโตเคอเรนซีสกุลแรกที่ใช้เทคโนโลยี Peer-to-Peer เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินแบบทันที และมีนักขุด (Miner) รับผิดชอบในการประมวลผลธุรกรรมบน Blockchain นอกจากนี้นักขุดจะได้รับรางวัล (การเกิด Bitcoin ในบล็อกใหม่) และค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่จ่ายผ่าน Bitcoin
การขุด Bitcoin
กระบวนการที่รักษาความน่าเชื่อถือของบัญชีแยกประเภทสาธารณะก็คงจะเป็นการทำเหมือง หรือการขุด Bitcoin นั่นเอง ซึ่งเหล่านักขุดก็คือเครือข่ายของผู้ใช้ Bitcoin ที่ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซีกันเอง หากพูดถึงการบันทึกธุรกรรมจำนวนมากถือเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ แต่สำหรับกระบวนการขุดนั้นยังถือว่ายากมากอยู่ เพราะซอฟต์แวร์ของ Bitcoin ทำให้กระบวนการนี้ใช้เวลานานเกินจริงและใช้เวลามากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการปลอมแปลงธุรกรรมหรือการทำให้ผู้อื่นล้มละลายเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นเพราะโปรโตคอลที่วางไว้ให้มีค่าความยากสูงขึ้น
Proof of Work (PoW)
การรวมอัลกอริธึม PoW เข้ากับเทคนิคการเข้ารหัสอื่น ๆ เป็นหนึ่งในเทคนิคของซอฟต์แวร์ที่ Satoshi สร้างขึ้นเพื่อจะปรับความยากที่นักขุดต้องเผชิญ โดยจำกัดเครือข่ายให้บล็อกธุรกรรมขนาด 1 เมกะไบต์เกิดใหม่ทุก ๆ 10 นาที ด้วยวิธีนี้ปริมาณของรายการธุรกรรมจะถูกย่อยได้ และเครือข่าย Blockchain จะมีเวลาตรวจสอบรายการธุรกรรมใหม่ก่อนจะส่งไปยังนักขุด
การ Halving
ดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ผู้ขุดจะได้รับรางวัลเป็น Bitcoin ที่เกิดขึ้นในบล็อกใหม่หลังจากตรวจสอบบล็อกของธุรกรรม ซึ่งรางวัลนี้จะถูกลดลงครึ่งหนึ่งทุก ๆ 210,000 บล็อกที่ขุดได้ หรือทุก ๆ 4 ปี โดยเหตุการณ์นี้จะเรียกว่า Halving หรือ Halvening ระบบนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยจะกำหนดให้มีอัตราการปล่อย Bitcoin ใหม่ออกสู่ระบบหลังจากมีการ Halving นอกจากนี้ระบบนี้ช่วยเพิ่มอัตราส่วนสต็อกต่อการไหลของ Bitcoin ซึ่งการ Halving ครั้งที่สามเกิดขึ้นในวันที่ 11 พฤษภาคม ปี 2020 โดยรางวัลสำหรับแต่ละบล็อกที่ขุดได้ตอนนี้คือ 6.25 Bitcoin
Hashing
Hashing หรือการแฮชชิง ซึ่งเป็นการเรียกใช้ข้อมูลผ่านอัลกอริธึมการเข้ารหัสที่สร้างเป็นสตริงตัวเลขและตัวอักษร เพื่อเป็นการแก้สมการทางคณิตศาสตร์สำหรับการขุด Bitcoin โดยอันดับแรกจะทำการสุ่มเลขที่เรียกว่านอนซ์ (Nonce) ออกมาหนึ่งชุดและนำไปต่อแนบกับข้อมูลของทั้งบล็อก จากนั้นก็นำบล็อกที่มีนอนซ์มาทำการแฮชชิง เพื่อให้ได้แฮชที่มีเลขศูนย์ (กลุ่มตัวเลขผสมตัวอักษร) ตรงตามเป้าหมายของ Difficulty Target
Difficulty Target
เป้าหมายค่าความยากในการขุดที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ จะขึ้นอยู่กับการรับส่งข้อมูลที่เครือข่ายได้รับคำสั่งว่า โปรโตคอลของ Bitcoin จะต้องใช้สตริงเลขศูนย์ที่ยาวขึ้นหรือสั้นลง โดยจะปรับความยากเพื่อให้ได้อัตราบล็อกใหม่ทุก ๆ 10 นาที โดย ณ เดือนกรกฎาคม ปี 2021 ดังที่แสดงให้เห็นในภาพ การขุด Bitcoin นั้นมีค่าความยากสูงสุดเกิน 25 ล้านล้านคะแนน เพิ่มขึ้นจาก 1 คะแนน ในปี 2009 จะเห็นได้ว่าการขุดนั้นมีความยากขึ้นมากนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่แล้ว
การทำธุรกรรมผ่าน Bitcoin
โดยเหล่า Exchange จะรวบรวมผู้เข้าร่วมจากตลาดทั่วโลกเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนเหล่าคริปโตเคอเรนซีต่าง ๆ ซึ่งนับวันจะยิ่งมีความนิยมมากขึ้นเพราะอิทธิพลจากความนิยมของ Bitcoin เติบโตขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังเต็มไปด้วยความท้าทายด้านข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่ไม่มีใครสามารถเข้ามาแทรกแซงได้
Key และ Wallet
แน่นอนว่านักเทรดและเจ้าของ Bitcoin ต่างก็ต้องการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อปกป้องการถือครองสินทรัพย์ของพวกเขา ซึ่งการใช้ Key และ Wallet ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก โดย Key หรือกุญแจนั้นจะมีทั้งกุญแจสาธารณะ (Public-key) ที่เปรียบเสมือนชื่อผู้ใช้ (User) และกุญแจส่วนตัว (Private-key) ที่เปรียบเสมือนรหัสผ่าน (Password) ซึ่งในการที่จะเข้าถึง Bitcoin ของคุณได้นั้นจะต้องมี Wallet ที่จะเปิดใช้ได้ด้วย Key ทั้งสองประเภท นอกจากนี้คุณสามารถเลือกประเภทของ Wallet ตามระดับความปลอดภัยที่คุณต้องการด้วยตนเองได้อีกด้วย
Q: ใครเป็นผู้ควบคุมเครือข่าย Bitcoin?
A: ไม่มีใครเป็นเจ้าของเครือข่าย Bitcoin แบบเบ็ดเสร็จ เครือข่ายของมันถูกควบคุมโดยผู้ใช้งานทั่วโลก แม้แต่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ของ Bitcoin เองก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขโปรโตคอล Bitcoin ได้ เนื่องจากการทำงานทุกอย่างเป็นไปตามกลไกฉันทามติที่ผู้ใช้และนักพัฒนาทุกคนมีร่วมกัน
Q: ผู้คนใช้งาน Bitcoin จริงหรือไม่?
A: ปัจจุบันมีทั้งกลุ่มธุรกิจและบุคคลทั่วไปจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ใช้ Bitcoin เป็นวิธีการชำระเงิน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่มีหน้าร้านจริง ตลอดจนบริการออนไลน์ต่าง ๆ
Q: ทำไมผู้คนถึงเชื่อใจใน Bitcoin?
A: ความจริงแล้ว Bitcoin ไม่ได้ต้องการความไว้วางใจเลย เนื่องด้วยมันมีตัวตนอยู่บนระบบ Open Source อย่างสมบูรณ์ ที่รวมไปถึงการทำงานแบบกระจายอำนาจ ซึ่งหมายความว่าทุกคนสามารถเข้าถึง Source Code ทั้งหมดได้ตลอดเวลา เป็นระบบการทำงานที่โปร่งใสและปลอดภัยอยู่เสมอไม่ว่าผู้ใช้ทั้งหมดจะเชื่อใจหรือไม่ก็ตาม
Q:มูลค่าของ Bitcoin เกิดจากอะไร?
A: Bitcoin มีมูลค่าเพราะการมีประโยชน์ในรูปแบบของเงิน ถึงแม้จะจับต้องไม่ได้เหมือนเงินจริง แต่ลักษณะการใช้งานได้จริงของมันก็แทบไม่มีความแตกต่างใด ๆ (พกพาสะดวก, ใช้งานได้จริง, มีการป้องกันภาวะเงินเฟ้อ, แบ่งแยกมูลค่าได้ และเป็นที่ยอมรับ) โดยตัวกำหนดราคาของ Bitcoin นั้นมาจากอุปสงค์อุปทานในระบบนิเวศของตลาด
Q: จำนวน Bitcoin ที่จำกัดถือเป็นข้อเสียหรือไม่?
A: Bitcoin มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ถูกสร้างขึ้นเพียง 21 ล้าน Bitcoin อย่างไรก็ตามสิ่งนี้จะไม่มีวันเป็นข้อเสียได้ เนื่องจากสามารถกำหนดปริมาณในธุรกรรมเป็นหน่วยย่อยที่เล็กกว่า Bitcoin เช่น หน่วย Bit ที่มี 1 ล้าน Bit ต่อ 1 Bitcoin หรือสามารถแบ่งได้เป็นทศนิยม 8 ตำแหน่ง (0.00000001) จะเรียกว่าหน่วย Satoshi ก็ได้เช่นเดียวกัน
Q: การขุด Bitcoin สิ้นเปลืองพลังงานหรือไม่?
A: ในปัจจุบันก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในวงการของคริปโตเคอเรนซี เนื่องจากมีความกังวลมากมายเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรไปกับการขุด Bitcoin แต่อย่างไรก็ตามในขณะนี้ได้มีการปรับปรุงระบบให้ดีขึ้นด้วยการใช้งานฮาร์ดแวร์เฉพาะ ที่ใช้พลังงานน้อยลงโดยเน้นไปที่การใช้งานพลังงานหมุนเวียนเข้ามาแทน และค่าใช้จ่ายในการขุดยังคงเป็นสัดส่วนต่อความต้องการในอุตสาหกรรมขุด