ความแตกต่างระหว่างบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด
หลายคนอาจจะคิดว่าบัตรเครดิตและบัตรเดบิตใช้งานเหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วทั้งสองมีความแตกต่างกันอยู่ เราควรเลือกใช้ให้ถูกประเภท เพื่อการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ
หลายคนอาจจะคิดว่าบัตรเครดิตและบัตรเดบิตใช้งานเหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วทั้งสองมีความแตกต่างกันอยู่ เราควรเลือกใช้ให้ถูกประเภท เพื่อการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ
ใคร ๆ ต่างก็รู้จักบัตรเครดิตเป็นอย่างดี ซึ่งบัตรเครดิตมีเพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระสินค้าและบริการ โดยให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่ผู้ถือบัตร ไม่ว่าจะเป็นส่วนลด โปรโมชั่น เครดิตเงินคืน หรือการสะสมคะแนน วิธีการชำระเงินของบัตรเครดิตแบบเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ธนาคารออกเงินให้เราไปใช้ก่อน แล้วเราค่อยนำเงินไปจ่ายให้ธนาคารทีหลัง ถ้าจ่ายตรงเวลาและเต็มจำนวนก็จะไม่มีดอกเบี้ย ส่วนบัตรกดเงินสดนั้น มีรูปแบบการใช้งานที่ต่างจากบัตรเครดิต ซึ่งบัตรกดเงินสดเปรียบเสมือนสินเชื่อส่วนบุคคลในรูปแบบบัตร โดยธนาคารกำหนดวงเงินในบัตรให้สูงสุดประมาณ 5 เท่าของรายได้ และสามารถถอนเงินสดออกมาได้ที่ตู้ ATM ได้ทั่วประเทศ แต่ไม่สามารถรูดซื้อสินค้าได้เหมือนบัตรเครดิต
โดยปกติแล้วการใช้บัตรเครดิต จะเป็นการใช้วงเงินในบัตรเครดิตที่ธนาคารออกให้ล่วงหน้าในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ แล้วธนาคารจึงเรียกเก็บจากผู้ถือบัตรในภายหลัง โดยไม่จำเป็นต้องพกเงินสดไปชำระสินค้าหรือบริการแต่อย่างใด อีกทั้งยังอำนวยความสะดวกให้กับผู้ถือบัตรด้วย แต่ถ้าต้องการใช้เงินสดอย่างเร่งด่วน แต่ในขณะนั้นไม่มีเงินสดติดตัวมาเลย บัตรเครดิตก็สามารถกดเงินสดออกมาได้เช่นกัน ซึ่งวงเงินที่กดเงินสดได้ก็จะเท่ากับวงเงินในบัตรเครดิต ซึ่งสามารถกดได้ที่ตู้ ATM ของธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตนั้น ๆ จะเห็นได้ว่าการกดเงินผ่านบัตรเครดิตนั้นสามารถทำได้ทันที แต่การกดเงินสดจากบัตรเครดิตแต่ละครั้งจะถูกคิดค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 3% และภาษีมูลค่าเพิ่มจากยอดเงินที่กดออกมาอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการคิดดอกเบี้ยของการกดเงินสดจากบัตรเครดิตนั้น จะคิดเป็นรายวันและจะเริ่มคำนวณตั้งแต่วันที่กดเงินสดออกมา ไม่เหมือนกันการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ซึ่งมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยตั้งแต่ 45 – 55 วัน ถ้าชำระเต็มจำนวน
บัตรกดเงินสด คือบัตรที่สถาบันการเงินเจ้าของบัตรพิจารณาสินเชื่อเป็นเงินสด ซึ่งเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหนึ่งที่อยู่ในรูปของบัตร โดยส่วนใหญ่แล้วธนาคารจะอนุมัติวงเงินในบัตรกดเงินสดสูงสุด 5 เท่าของเงินเดือนปัจจุบัน บัตรกดเงินสดสามารถกดเงินได้ที่ตู้ ATM ของธนาคารเจ้าของบัตรได้ทั่วประเทศโดยที่รายได้ขั้นต่ำในการสมัครบัตรกดเงินสดนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 7,000 บาท สำหรับดอกเบี้ยของบัตรกดเงินสดนั้นเป็นดอกเบี้ยสินเชื่อที่สูงที่สุด ซึ่งสูงถึง 28% ต่อปี แต่เมื่อกดเงินออกมาจะไม่มีการหักค่าธรรมเนียมเหมือนการกดเงินผ่านบัตรเครดิต และจำนวนเงินขั้นต่ำที่กดได้จะอยู่ที่ประมาณ 100 บาท
“บัตรเครดิตกับบัตรกดเงินสดใช้งานไม่เหมือนกัน ถ้าต้องการเงินสดให้ใช้บัตรกดเงินสดดีกว่า”
แม้บัตรกดเงินสดจะมีจุดประสงค์เพื่อใช้ถอนเงิน แต่มีการคิดดอกเบี้ยเช่นกัน โดยเริ่มคิดเมื่อมีการกดเงินสดมาใช้ แต่ถ้าไม่ได้กดเงินสดก็จะไม่มีการคิดดอกเบี้ย การคิดดอกเบี้ยของบัตรกดเงินสดจะคิดจากจำนวนเงินที่กดออกมาใช้ในรอบนั้น ๆ ไม่ได้คิดจากวงเงินในบัตรกดเงินสดแต่อย่างไร และการคิดดอกเบี้ยของบัตรกดเงินสดจะคิดดอกเบี้ยเป็นรายวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มคิดตั้งแต่วันที่กดเงินจนถึงวันสรุปรายการ ดังนั้น เมื่อต้องการจะกดเงินสดจากบัตรกดเงินสดต้องคิดคำนวณดอกเบี้ยให้ดี โดยสูตรการคิดดอกเบี้ยบัตรกดเงินสดจะคิดดังนี้
จำนวนเงินสดที่กดออกมา * อัตราดอกเบี้ยต่อปี * จำนวนวันตั้งแต่วันกดเงินจนถึงวันสรุปรายการ ÷ 365
ยกตัวอย่างเช่น หากคุณกดเงินสดออกมาใช้จำนวน 5000 บาท และบัตรกดเงินสดของคุณมีการคิดดอกเบี้ยอยู่ที่ 28% ต่อปี โดยที่คุณกดเงินสดมาเมื่อในวันที่ 1 สิงหาคม และธนาคารได้สรุปรายการเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ซึ่งนับเป็น 25 วัน การคำนวณดอกเบี้ยจะสรุปได้ดังนี้
5,000 * 28% * 25 ÷ 365 = 95.89 บาท
ซึ่งทำให้เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม จะต้องชำระเงินทั้งหมด 5000+95.89 = 5095.89 บาท
บัตรกดเงินสดคิดดอกเบี้ยเป็นรายวัน นับตั้งแต่วันที่กดเงินสดออกมาจนถึงวันสรุปยอด
สำหรับตารางนี้ จะเป็นการเปรียบเทียบระหว่างการกดเงินสดผ่านบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด โดยเป็นการกดเงินสดจำนวน 5000 บาท และระยะเวลาระหว่างวันที่กดเงินจนถึงวันที่สรุปรายการอยู่ที่ 25 วัน
จำนวนเงินที่กด: บัตรเครดิต 5000บาท / บัตรกดเงินสด 5000บาท
ค่าธรรมเนียมกดเงิน: บัตรเครดิต (3%) 5000*3%= 150 บาท / บัตรกดเงินสด ไม่มีค่าธรรมเนียม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม: บัตรเครดิต 7% จากค่าธรรมเนียมกดเงิน 150 * 3%= 10.50 บาท / ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
อัตราดอกเบี้ย: บัตรเครดิต 20% / บัตรกดเงินสด 28%
การคำนวณดอกเบี้ย: บัตรเครดิต คิดตั้งแต่วันที่กดเงินสด (25 วัน) / บัตรกดเงินสด คิดตั้งแต่วันที่กดเงินสด (25 วัน)
ดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย: บัตรเครดิต (5000 * 20% * 25) ÷ 365= 68.49 บาท / บัตรกดเงินสด (5000 * 28% * 25) ÷ 365= 95.89 บาท
จำนวนเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อครบกำหนด: บัตรเครดิต 5000+150+4.50+68.49= 5228.99 บาท / บัตรกดเงินสด 5000+95.49= 5095.49 บาท
จะเห็นได้ว่า การกดเงินสดจากบัตรกดเงินสดจะเสียดอกเบี้ยน้อยกว่าการกดเงินสดจากบัตรเครดิต ดังนั้น เมื่อต้องการจะใช้เงินสดก็แนะนำให้กดเงินสดจากบัตรกดเงินสดจะดีกว่า เพราะจ่ายยอดชำระรวมได้ถูกกว่าการกดเงินจากบัตรเครดิต เพราะไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมในการกดเงินนั่นเอง แต่ทางที่ดีควรใช้บัตรกดเงินสดในยามฉุกเฉินดีกว่า เพราะจุดประสงค์จริง ๆ ของบัตรกดเงินสดก็คือเอาไว้เป็นวงเงินสำรองในกรณีที่ขาดสภาพคล่อง