คำแนะนำในการขับรถขึ้นเขา-ลงเขา
เส้นทางถนนปกติต้องขับขี่ให้ปลอดภัยอย่างไร เส้นทางภูเขาต้องขับขี่ให้ปลอดภัยยิ่งกว่า Tadoo จะมาแนะนำวิธีขับรถขึ้นเขา-ลงเขาอย่างปลอดภัยให้กับคุณ
เส้นทางถนนปกติต้องขับขี่ให้ปลอดภัยอย่างไร เส้นทางภูเขาต้องขับขี่ให้ปลอดภัยยิ่งกว่า Tadoo จะมาแนะนำวิธีขับรถขึ้นเขา-ลงเขาอย่างปลอดภัยให้กับคุณ
ช่วงวันหยุดหลาย ๆ ครอบครัวมักจะขับรถไปเที่ยวกันไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือของไทย หรือเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ล้วนเป็นสถานที่ยอดฮิตในการไปสัมผัสอากาศหนาวทั้งสิ้น แต่การขับรถขึ้นเขา-ลงเขานั้น หากไม่ระมัดระวังหรือขับขี่ด้วยความรอบคอบอาจเกิดอันตรายได้ โดยทาง Tadoo มีคำแนะนำมาฝากดังนี้
ขับรถขึ้นเขา-ลงเขา ใช้เกียร์ต่ำเท่านั้น – ทางขึ้นเขาส่วนใหญ่จะมีความลาดชันสูง รถจึงต้องการแรงขับเคลื่อนมากกว่าตอนที่ขับบนถนนทางราบทั่วไป และเกียร์ที่สามารถใช้ในการขับรถขึ้นทางชันได้ ก็มีเพียงแค่เกียร์ 1 และ 2 เท่านั้น และหากรู้สึกว่ารถเริ่มไม่มีแรง ก็ให้ลดเกียร์ต่ำลงมาอีก เช่น ขับมาเกียร์ 2 แล้วรถเริ่มอืดๆ ให้ลดเกียร์มาเป็นเกียร์ 1 แทน จะทำให้รถมีแรงมากขึ้น ส่วนรถเกียร์ออโต้ให้เปลี่ยนเกียร์ไปตำแหน่ง “L”
สำหรับการขับรถลงเขาก็เช่นกัน ควรใช้เกียร์ต่ำ และมีจุดที่ควรระวังมากเป็นพิเศษ คือขาลงจากภูเขา รถอาจไม่ต้องใช้แรงขับเคลื่อนมาก แต่ต้องการแรงฉุดเพื่อให้รถวิ่งช้าลง ซึ่งการใช้เกียร์ต่ำวิ่งลงทางชันนั้นจะทำให้เครื่องยนต์มีแรงฉุดมาก เคลื่อนที่ได้ไม่เร็ว ทำให้สามารถเบรกและเข้าโค้งได้อย่างมั่นใจ การลงเขาควรอยู่ที่เกียร์ 1 หรือ 2 เท่านั้น และห้ามดับเครื่องยนต์หรือใช้เกียร์ว่างลงเขาเด็ดขาด
ในทางลงเขา ควรใช้เกียร์ต่ำเพื่อเสริมแรงฉุด และแตะเบรกเป็นระยะเพื่อช่วยชะลอความเร็วของรถ แต่ห้ามแตะเบรกแช่ยาวเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เบรกไหม้และเบรกไม่อยู่ หรือที่เรียกกันว่า “เบรกแตก” นั่นเอง ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้อันตรายมาก ๆ ทางที่ดีเราควรแตะเบรกในจังหวะที่จำเป็นเท่านั้น และควรตรวจสอบเบรกรถยนต์ของคุณก่อนออกเดินทางเพื่อให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่รถขึ้นลงเขาของคุณ
หน้าที่ของคลัทช์ คือ เป็นตัวกลางเพื่อพาแรงฉุดจากเครื่องยนต์ผ่านเกียร์ แล้วไปยังล้อรถ จึงเป็นเหตุให้ขณะรถวิ่ง และยังค้างเกียร์อยู่ แรงฉุดจากเครื่องยนต์จะถ่ายทอดกำลังไปกดที่ล้อรถ เมื่อรถกำลังแล่น และไปเหยียบคลัทช์เข้า จะทำให้แรงกดถนนจากเครื่องยนต์ถูกตัดขาด รถจะไม่เกาะถนน และจะเสียการทรงตัวและหมุนทันที หากถนนลื่นหรือมีการหักเลี้ยว ฉะนั้นผู้ที่เคยชินกับการเบรกโดยเหยียบคลัทช์ไปด้วย ทำให้รถพุ่งไปข้างหน้าเร็วขึ้น เนื่องจากแรงฉุดจากเครื่องยนต์ถูกตัดขาด การเบรกและการบังคับรถจะทำได้ยากขึ้น และไม่ควรวางเท้าบนคลัทช์เป็นอันขาด เพราะอาจจะเผลอเหยียบด้วยความเคยชิน
“แตะเบรกแช่ยาวจะทำให้เบรกไหม้และไม่ทำงาน อันตรายถึงชีวิต”
สำหรับการขับรถลงทางลาดชัน หรือลงภูเขานั้น ข้อควรระวังที่สำคัญคือ ห้ามใช้เกียร์ว่าง และปล่อยให้รถไหลไปตามทางเป็นอันขาด เพราะจะทำให้รถเสียการทรงตัว ทั้งนี้ รถมีน้ำหนักมาก ถ้าผู้ขับขี่ใช้เกียร์ว่าง รถจะพุ่งตัวด้วยความแรงที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้อาจเกิดอันตรายได้ ทางที่ดีควรใช้แรงฉุดจากเครื่องยนต์ (Engine Brake) ในการช่วยเบรก ด้วยการลดเกียร์ลงครั้งละ 1 จังหวะตามความเหมาะสม โดยต้องเปลี่ยนให้สัมพันธ์กับความเร็ว ซึ่งมีผลให้รอบเครื่องยนต์เพิ่มสูงขึ้น แต่ความเร็วของรถจะลดลงอย่างรวดเร็ว ช่วยให้สามารถควบคุมรถได้
ขับรถขึ้นลงเขาห้ามแซงทางโค้งและให้เสียงสัญญาณเตือนรถในจุดอับสายตา
การเร่งเครื่องขึ้นเขา ต้องเร่งเครื่องเป็นจังหวะและสม่ำเสมอ เพื่อส่งให้รถมีกำลังเคลื่อนที่ขึ้นเขาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในเส้นทางที่มีความชันตลอดแนว ควรเร่งเครื่องต่อเนื่องกันไป เพราะหากเร่ง ๆ หยุด ๆ จะทำให้รถเสียกำลังและไหลลงมาได้ ซึ่งอันตรายมาก นอกจากนี้การขับรถขึ้นลงเขา ห้ามแซงทางโค้ง โดยเฉพาะช่วงโค้งที่เรามองไม่เห็นรถสวนมาจากข้างหน้า ควรค่อย ๆ ขับตามอย่างระมัดระวัง และมองให้ไกลเพื่อประเมินเส้นทางเบื้องต้น เมื่อดูดีแล้วว่าปลอดภัยและเลยจุดทางโค้งแล้วจึงค่อยทำการแซง และควรให้เสียงสัญญาณเตือนรถที่อาจสวนมา เพราะช่วงทางโค้งเป็นมุมอับสายตา
หากคุณขับรถขึ้นเขา หรือลงเขาแล้วได้กลิ่นเหม็นไหม้ภายในรถยนต์ คุณต้องพยายามหาที่จอดที่ปลอดภัยทันที เพราะกลิ่นเหม็นไหม้นั้นอาจจะเกิดขึ้นมาจากเครื่องยนต์ที่ร้อนมากเกินไป หรือเกิดเบรกไหม้เกิดขึ้นได้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสาเหตุใดก็ตามล้วนเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่อย่างยิ่ง
ทั้งหมดนี้เป็นคำแนะนำที่ทาง Tadoo นำมาฝาก หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อย ขอให้คำนึงในการขับขี่ขึ้นลงภูเขาอย่างปลอดภัย และเพื่อเพิ่มความป้องกันให้คุณมากยิ่งขึ้นควรมีประกันรถยนต์ไว้ดูแลหากต้องเกิดเหตุไม่คาดฝัน เลือกประกันรถยนต์ เลือกผ่าน Tadoo