Connect with us

เปลี่ยนสีรถผิดกฎหมายหรือไม่

สีรถยนต์เดิม ๆ อาจทำให้เราเบื่อ จะเปลี่ยนสีรถอย่างไรได้บ้าง และทำอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย

การเปลี่ยนสีรถ

ในปัจจุบันรถที่วิ่งอยู่ตามท้องถนน เราจะเห็นถึงสีสันของรถที่มากมายหลายหลาก มีทั้งโทนสีอ่อน สีเข้มปะปนกันไป การที่เราใช้รถคันเดิมมาสักระยะเวลาหนึ่ง เกิดความอยากเปลี่ยนสีรถ เราจะสามารถเปลี่ยนได้แค่ไหน หรือเปลี่ยนสีรถแบบไหนที่จะไม่ผิดกฎหมาย ทาง Tadoo มีข้อแนะนำมาฝากคุณผู้อ่าน โดยปกติแล้วการเปลี่ยนสีรถยนต์มี 2 วิธีที่นิยมทำกันคือ

1. การติดสติกเกอร์เพื่อเปลี่ยนสีรถ (การ Wrap)
2. การพ่นเพื่อเปลี่ยนสีรถ (การ Dip)

จุดเด่น

  • เมื่อเปลี่ยนสีรถต้องทำการแจ้งเปลี่ยนสีรถ
  • เปลี่ยนสีรถโดยไม่แจ้งต่อนายทะเบียนถือว่าผิดกฎหมาย
  • เลือกวิธีเปลี่ยนสีรถให้เหมาะสม เพราะความสบายใจของทุกคน

การ Wrap รถคืออะไร

การ Wrap คือ การเปลี่ยนสีรถยนต์โดยนำสติกเกอร์มาคลุม หรือปิดไว้ เพื่อไม่ให้เห็นสีเดิม รวมถึงเปลี่ยนลักษณะรูปลักษณ์ภายนอก หรือห่อหุ้มรถ การติดสติกเกอร์รถยนต์ในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงการติดสำหรับการเปลี่ยนสีรถยนต์ทั้งคันเท่านั้น ยังมีการติดสติกเกอร์แฟชั่นเพื่อเพิ่มลวดลายที่ตัวถังฝากระโปรงหน้า กันชนหน้า แก้มข้าง หลังคา ฝาท้าย หรือชุดแต่งต่าง ๆ หากไม่เกิน 30% ของตัวรถ ก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งเพื่อลงเล่มทะเบียน หรือทางที่ดีหลังจากติดสติกเกอร์แล้ว ควรให้เจ้าหน้าที่ตรวจสภาพสำนักงานขนส่งประเมินและพิจารณาถึงความเหมาะสม

การ Dip รถคืออะไร

การ Dip หรือการพ่นเปลี่ยนสีตัวรถยนต์ ปัจจุบันมีการพ่น 2 แบบด้วยกัน คือการพ่นสีปกติ และการพ่นสีลอกได้หรือ Plastic Dip ซึ่งเป็นนวัตกรรมค่อนข้างที่จะได้รับความนิยมอย่างมากทีเดียว เมื่อเทียบการพ่นสีทั่วไปแบบเก่า หรือการติดสติกเกอร์ สำหรับประเภทของสีลอกได้มีอยู่ 3 แบบคือ สีลอกได้แบบสีด้าน, สีเงา และสีสะท้อนแสง ให้มิติและมุมมองที่ดูสวยงามเปรียบเสมือนสีรถจริง และเมื่อเราเบื่อสีรถเดิมที่เราไปพ่นมาก็สามารถลอกเพื่อพ่นสีใหม่ได้อีก การพ่นสีรถช่วยปกป้องพื้นผิวสีเดิม เนื่องจากไม่ใช้กาวในการติดตั้ง และสามารถเก็บงานได้ ตั้งแต่พื้นที่เล็ก ๆ เช่น พ่นกรอบกระจกมองข้าง พ่นคิ้ว หรือกระจังหน้า เป็นต้น ไปจนถึงพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น การพ่นฝากระโปรง หรือการพ่นรถยนต์ทั้งคัน

“ขณะติดตั้งหากติดสติกเกอร์เปลี่ยนสีรถไม่ดีอาจทำให้เกิดฟองอากาศ หรือความโป่งพองได้”

ข้อดี-ข้อเสียระหว่างการ Wrap และ Dip สีรถ

ข้อดี-ข้อเสีย ของการเปลี่ยนสีรถยนต์ทั้งการติดสติกเกอร์ และการพ่นสีรถยนต์ มีข้อแตกต่างกันดังนี้

ข้อดีของการติดสติกเกอร์เปลี่ยนสีรถ
– ใช้ระยะเวลาในการทำไม่นาน
– สติกเกอร์แบบฟิล์มช่วยป้องกันรังสียูวี
– ง่ายในการติดตั้ง
– มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก

ข้อเสียของการติดสติกเกอร์เปลี่ยนสีรถ
– อาจทำลายสีเดิมของรถเมื่อลอกออก
– สีสันไม่เนียนและเงางามเหมือนสีรถจริง
– ขอบสติกเกอร์เป็นแหล่งสะสมสิ่งสกปรก
– ยึดเกาะโดยใช้กาวติดตั้งทำให้เกิดฟองอากาศ

ข้อดีของการพ่นเปลี่ยนสีรถ
– ช่วยให้สีเข้าถึงได้ดีกว่าแม้แต่พื้นที่เล็ก
– สีสวยเงางามเหมือนสีรถจริง
– การพ่นสีลอกได้ง่ายต่อการเปลี่ยนสีรถใหม่
– การพ่นสีลอกได้ไม่ทำลายสีเดิมของรถ
– ช่วยกันรอยขีดข่วนและคราบต่าง ๆ

ข้อเสียของการพ่นเปลี่ยนสีรถ
– ราคาแพง
– ใช้เวลาในการทำนาน
– มีหลายขั้นตอนในการทำ

เมื่อเปลี่ยนสีรถเสร็จต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 7 วัน

กฎหมายเรื่องการเปลี่ยนสีรถ

สำหรับการเปลี่ยนสีรถยนต์บางส่วนหรือทั้งคันนั้น เป็นวิธีที่หลายคนนิยมทำกันเพื่อแต่งรถ แต่หากไม่แจ้งลงเล่มให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2549 ว่าด้วยการกำหนดสีและลักษณะของรถ โดยมีการกำหนดสีตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้

– กรณีตัวรถมีสีเดียว – ให้กำหนดสีที่เป็นสีหลักโดยไม่ต้องคำนึงถึงความเข้มของสีที่แตกต่างกัน
– กรณีตัวรถมีหลายสี – ให้กำหนดสีที่เป็นสีหลักของรถไม่เกิน 3 สีแล้วแต่กรณี หากมีเกิน 3 สี ให้กำหนดสี หลักแล้วตามด้วยสีลำดับท้ายสุดว่า “หลายสี” เว้นแต่ไม่สามารถกำหนดสีหลักได้ ให้กำหนดว่า “หลายสี” เพียงอย่างเดียว
– กรณีสีคาดหรือแถบคาดตกแต่งรถ – โดยไม่ทำให้สีหลักของรถเปลี่ยนแปลงไป ไม่ต้องกำหนดเป็นสีรถทั้งนี้ การแก้ไขเปลี่ยนสีของรถไม่ว่าจะดำเนินการด้วยวิธีใด ๆ เช่น ติดสติกเกอร์, หุ้มฟิล์ม, เปลี่ยนชิ้นส่วนเป็นคาร์บอนเคฟล่า หรือการพ่นสีใหม่ จะต้องให้เจ้าหน้าที่กำหนดสีรถให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้น โดยสีอื่นจะต้องมีไม่เกินครึ่งหนึ่งของสีหลักที่จดทะเบียนไว้ เช่น การเปลี่ยนฝากระโปรงหน้าด้วยการติดสติกเกอร์สีดำ ผิดจากตัวถังที่เป็นสีขาว ตามหลักถือว่าไม่เกินครึ่งหนึ่ง ไม่มีความผิด แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่แต่ละคนได้เช่นกัน

เอกสารและขั้นตอนในการเปลี่ยนสีรถ

เมื่อคุณได้ทำการเปลี่ยนสีรถของคุณแล้ว เจ้าของรถมีหน้าที่ต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 7 วัน นับแต่วันที่เปลี่ยนสีนั้น หากเกินกำหนดเจ้าของรถจะมีความผิดตามมาตรา 60 ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท โดยมีเอกสารและขั้นตอนดังต่อไปนี้

เอกสารที่ใช้ในการเปลี่ยนสีรถ
1. ใบคู่มือจดทะเบียนรถ
2. ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน
3. หลักฐานการเปลี่ยนสีรถ เช่น ใบเสร็จรับเงินค่าจ้างทำสี

ขั้นตอนการดำเนินการ
1. ยื่นคำขอพร้อมหลักฐาน เพื่อขอนำรถเข้ารับการตรวจสอบ
2. ยื่นตรวจสอบคำขอพร้อมหลักฐานและผลผ่านการตรวจสอบรถ
3. ชำระค่าธรรมเนียม
4. รอรับเอกสารคืน

ทำสีรถและแจ้งเปลี่ยนสีรถเรียบร้อยแล้ว หากรถยังไม่มีประกันรถยนต์ หรือกำลังจะต่อประกันรถยนต์ สามารถซื้อประกันรถยนต์ออนไลน์ได้ ผ่าน Tadoo

ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับรถยนต์

ความคุ้มครองรถพังเสียหาย

เพิ่มเติม

ความช่วยเหลือฉุกเฉินบนท้องถนน

เพิ่มเติม

ความคุ้มครองรถสำหรับธุรกิจ

เพิ่มเติม

ประเภทของประกันรถยนต์

คู่มือยอดนิยมสำหรับรถยนต์