Connect with us

การขอใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์

การขับขี่รถจักรยานยนต์บนท้องถนนโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ดังนั้นก่อนขับขี่ทุกยานพาหนะบนท้องถนน ควรทำใบขับขี่และ พ.ร.บ.ให้เรียบร้อยเสียก่อน รวมถึงเพิ่มความขับขี่ปลอดภัย มั่นใจยิ่งขึ้น ด้วยการทำประกันรถจักรยานยนต์

ขั้นตอนการขอใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์

ในการขอใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ มีการเตรียมตัวและขั้นตอนอย่างไรกันบ้าง tadoo.co ได้นำข้อมูลมาฝากดังนี้ เริ่มจากการจองคิวอบรม

การจองคิวอบรม เนื่องจากกฎหมายใหม่ระบุว่า ผู้ที่ทำการขอใบอนุญาตขับขี่ใหม่ จะต้องผ่านการอบรมจากทางกรมการขนส่งทางบกอย่างน้อย 5 ชั่วโมง ก่อนที่จะได้รับใบอนุญาต หรือใครที่เคยมีใบขับขี่อีกประเภทแล้ว เช่น ถ้ามีแบบใบอนุญาตขับขี่รถยนต์แล้ว จะมาขอใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ ก็ต้องเข้าอบรมเหมือนกัน แต่ด้วยห้องอบรมมีจำกัด จึงต้องมีการจองคิวกันก่อน โดยทำการจองอบรมออนไลน์ของกรมการขนส่งทางบก จากนั้นให้กรอกประวัติโดยกรอกข้อมูลส่วนตัวให้ตรงกับความเป็นจริงและจองที่นั่งอบรม

จุดเด่น

  • ขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างถูกต้อง ต้องมีใบอนุญาตขับขี่
  • สอบใบขับขี่ไม่ยาก ขอแค่มีความตั้งใจ เตรียมตัว เตรียมเอกสารให้พร้อม
  • มีใบขับขี่แล้ว ต้องขับขี่ด้วยความไม่ประมาทด้วย

การเตรียมเอกสาร

เอกสารที่ใช้ในการขอใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ มีดังนี้

– เอกสารการจองอบรม (ที่ได้หลังจากจบขั้นตอนการจอง) 1 ใบ
– บัตรประชาชนตัวจริง
– ใบรับรองแพทย์ มีอายุไม่เกิน 1 เดือน โดยจะต้องเป็นใบรับรองแพทย์แบบมาตรฐานของกรมการแพทย์เท่านั้น ต้องมีระบุชื่อของคลินิกหรือโรงพยาบาลอย่างชัดเจน โดยทั่วไปค่าออกใบรับรองแพทย์ตามคลินิกต่างๆ ราคาประมาณ 100 บาท หรือตามโรงพยาบาลใหญ่ก็ประมาณ 200- 300 บาท

การทดสอบสมรรถภาพร่างกาย และการอบรม

ก่อนจะไปอบรม 5 ชั่วโมงได้นั้น ทุกคนจะต้องผ่านการทดสอบสมรรถภาพร่างกายเสียก่อน โดยการทดสอบสมรรถภาพร่างกายมี 4 ฐานด้วยกันดังนี้

1. ทดสอบตาบอดสี
2. ทดสอบสายตาทางลึก
3. ทดสอบสายตาทางกว้าง
4. ทดสอบปฏิกิริยาทางเท้า

เมื่อทำการทดสอบสมรรถภาพร่างกายผ่านหมดทุกฐานแล้ว จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการอบรม โดยการอบรมนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ภาคคือ ภาคเช้า เริ่ม 9.30 – 12.00 น. และภาคบ่ายคือ 13.00 – 15.30 น. เจ้าหน้าที่จะมีใบให้เราเซ็นชื่อทั้ง 2 รอบโดย 5 ชั่วโมงนี้ ก็จะมีเจ้าหน้าที่มาบรรยายให้ความรู้เรื่องสัญญาณจราจร, ป้ายจราจรต่าง ๆ และมีการเปิดวิดีโอรูปแบบต่างๆ ทั้งคลิปการเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรง, คลิปสัมภาษณ์คนที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุ, คลิปการขับรถปลอดภัย เป็นต้น

ขับขี่รถปลอดภัย ใส่ใจกฎหมาย ไม่ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยที่ไม่มีใบขับขี่

การสอบภาคทฤษฎี

เมื่ออบรมครบ 5 ชั่วโมงแล้ว เราก็สามารถเข้าสอบภาคทฤษฎีได้ โดยผู้ขอใบขับขี่ทุกคน จะต้องผ่านการทำข้อสอบทั้งหมด 50 ข้อ โดยต้องทำให้ถูกทั้งหมด 45 ข้อ หรือ 90% นั่นเอง ในการสอบเราจะต้องนั่งที่หน้าจอตามที่ระบุไว้ มีกล้องที่หน้าจอจับภาพเราก่อนทำข้อสอบ เพื่อเป็นการยืนยันว่าเราได้มาทำข้อสอบชุดนั้นเองจริงๆ จากนั้นหน้าจอจะมีข้อสอบขึ้นมาให้ทำทีละข้อ กดเลือกคำตอบที่ถูกต้อง (1 ใน 4) มีกำหนดระยะเวลาในการทำข้อสอบ 60 นาที หากข้อไหนไม่มั่นใจ เราสามารถกดข้ามก่อน แล้วค่อยกลับมาทำทีหลังได้

ขอแค่มีความตั้งใจ สอบใบขับขี่ไม่ยากอย่างที่คิด ไม่ว่าภาคทฤษฎีหรือปฏิบัติผ่านแน่นอน

การสอบภาคปฏิบัติ

การสอบภาคปฏิบัติ เมื่อเราทำข้อสอบภาคทฤษฎีเสร็จแล้ว เราจะได้ใบนัดสอบขับรถจักรยานยนต์ เพื่อทำการสอบในวันถัดไป โดยมีการจัดสอบ 2 รอบ คือ 8.30 และ 13.00 น. สำหรับการสอบรถจักรยานยนต์ต้องสอบทั้งหมด 3 ท่า คือ

– ขี่ทรงตัวบนทางแคบ ให้ผู้สอบใบขับขี่ทำการทรงตัวบนทางแคบกว้าง 30 ซม. ยาว 15 เมตร แล้วขี่ทรงตัวให้อยู่บนทางนี้ให้ได้อย่างน้อย 10 วินาที นับตั้งแต่ล้อหน้าขึ้นบนแท่น และหยุดเวลาเมื่อล้อหลังลงจากแท่น ห้ามล้อตกจากทาง หรือเท้าแตะพื้น

– ขี่ซิกแซก สนามสอบใบขับขี่จะมีการวางกรวยเอาไว้แบบช่อง Slalom ให้เราขี่ซิกแซกผ่านไปทีละช่อง ห้ามเท้าลงพื้น และห้ามรถโดนกรวย

– ปฏิบัติตามป้ายสัญญาณจราจร ให้เราจอดหยุดรถหลังเส้น เมื่อเห็นป้ายจราจร “หยุด” และขี่ต่อไปได้ เมื่อผู้คุมสอบแจ้งบอกว่า “ท่า 3 ผ่าน”

การออกใบขับขี่ชั่วคราว

เมื่อสอบผ่านเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นขั้นตอนการออกใบขับขี่ คือ มีการชำระเงิน ถ่ายรูป และเจ้าหน้าที่ออกใบขับขี่ให้ ซึ่งจะได้ใบขับขี่ชั่วคราวก่อน ซึ่งใบขับขี่ชั่วคราวนี้ มีอายุการใช้งานได้ 2 ปี จากนั้นจึงจะสามารถเปลี่ยนเป็นแบบ 5 ปีได้

เราควรใส่ใจ ตรวจสอบอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้ใบขับขี่หมดอายุ ส่วนใครที่ถือใบขับขี่หมดอายุเกิน 1 ปี ต้องทำการเข้าอบรม 5 ชั่วโมงใหม่ แต่ถ้าขาดเกิน 3 ปี ต้องเริ่มขั้นตอนใหม่ทั้งหมด หากใครใบขับขี่หายไม่ต้องดำเนินขั้นตอนแจ้งความแล้ว ซึ่งคุณสามารถไปขอใบขับขี่ใหม่ที่กรมการขนส่งฯ ได้ทุกที่ ภายใน 15 วัน

หากเราตั้งใจ การทำใบขับขี่ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เมื่อมีใบขับขี่ และ พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์แล้ว อย่าลืมเพิ่มความคุ้มครองรถจักรยานยนต์ของคุณและตัวคุณรวมถึงผู้โดยสาร โดยการทำประกันรถจักรยานยนต์ เลือกทำประกันผ่าน Tadoo มีให้คุณเลือกทั้งประกันรถจักรยานยนต์ชั้น 2+, ประกันรถจักรยานยนต์ชั้น 3+ และ พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ และหากสนใจอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมสามารถคลิกดูได้ใน คู่มือประกันรถจักรยานยนต์

ผลิตภัณฑ์ประกันรถจักรยานยนต์

ประเภทของประกันรถจักรยานยนต์

คู่มือยอดนิยมสำหรับประกันรถจักรยานยนต์