Connect with us

ต้องการมีลูก จะวางแผนการเงินอย่างไร

ลูกเปรียบเสมือนแก้วตาดวงใจ การจะมีลูก 1 คนต้องวางแผนการเงินแบบไหน มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ มาหาคำตอบด้วยกัน

มีลูก 1 คน ต้องเตรียมอะไรบ้าง

การวางแผนการเงินสำหรับมีลูกนั้น เมื่อสามีภรรยาต้องการจะมีลูกสักคน ต้องวางแผนอะไรบ้าง tadoo.co มีแนวทางการวางแผนการเงินสำหรับมีลูกมาให้คุณดังต่อไปนี้

จุดเด่น

  • เริ่มต้นวางแผนการเงินก่อนตั้งครรภ์
  • ทำประกันสุขภาพให้คุณแม่และลูกน้อย
  • วางแผนการเงินสำหรับการศึกษา
  • อย่าลืมคิดถึงอัตราเงินเฟ้อในอนาคตด้วย

เริ่มต้นวางแผนการเงินก่อนตั้งครรภ์

เมื่อครอบครัวของคุณพร้อมที่จะมีลูกน้อย สิ่งหนึ่งที่สำคัญก่อนการมีลูกก็คือการวางแผนทางการเงิน โดยการวางแผนการเงินก่อนเตรียมตั้งครรภ์ช่วยให้การดูแลครรภ์ของคุณแม่เป็นเรื่องง่ายขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายในการบำรุงครรภ์นั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่าตรวจครรภ์ ค่าฝากครรภ์ ค่าบำรุงอาหารหลังคลอด เช่นค่านม ค่าผ้าอ้อม ค่าของใช้เด็ก และคุณแม่หลายๆคนจะต้องลางานหรือออกจากงานเพื่อเลี้ยงดูลูก จึงทำให้คุณพ่อต้องกลายเป็นผู้ดูแลครอบครัวอย่างเต็มตัว การวางแผนการเงินก่อนตั้งครรภ์จึงสำคัญมาก คุณพ่อคุณแม่มือใหม่จะต้องวางแผนล่วงหน้าหลายๆเดือนเพื่อให้แผนทางการเงินเป็นไปอย่างที่ต้องการ โดยเริ่มจากการวางแผนตั้งแต่ค่าตรวจครรภ์จนถึงค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตร (ให้นับรวมค่าใช้จ่ายสำหรับนอนพักที่โรงพยาบาลด้วย) หลังจากนั้นให้วางแผนค่าใช้จ่ายหลังคลอดได้แก่ ค่าของใช้ เสื้อผ้า นมผง ผ้าอ้อม และของเล่นเสริมพัฒนาการอื่นๆ เพื่อให้ลูกน้อยของเราได้รับสิ่งที่ดีที่สุดจากพ่อแม่

ทำประกันสุขภาพให้คุณแม่และลูกน้อย

คุณแม่หลายๆคนอาจจะคิดว่า สามารถไปใช้สิทธิ์ของประกันสังคมหรือสิทธิ์บัตรทองของตนเพื่อฝากครรภ์รวมถึงการคลอดบุตร หรือถ้าเลือกโรงพยาบาลเอกชนก็อาจจะต้องเก็บเงินเพื่อเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนนี้ แต่เพื่อความอุ่นในยิ่งกว่าเดิม แนะนำให้คุณแม่ทำประกันสุขภาพควบคู่ไปด้วยจะดีกว่า เพราะเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ อะไรก็เกิดขึ้นได้ ทั้งก่อนคลอดและหลังคลอด เพราะถ้าการคลอดมีปัญหาจะต้องรักษาด้วยเงินจำนวนมาก การทำประกันสุขภาพจึงตอบโจทย์ของคุณแม่เพื่อการดูแลครรภ์ให้ดีที่สุด และครอบคลุมถึงสุขภาพของคุณแม่อีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นถ้าคุณแม่ซื้อประกันที่ครอบคลุมลูกหลังคลอดไปด้วยก็จะยิ่งดีเช่นกัน แต่ประกันในส่วนนี้อาจจะราคาสูงถึงประมาณ 1 แสนบาทต่อปี แต่ถ้าคิดดีๆ ค่าทำคลอดของโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ก็หลักแสนบาทขึ้นไปแล้ว ก็เท่ากับว่าเราได้ซื้อประกันสุขภาพเพื่อคลอดลูกและดูแลคุณแม่และลูกน้อยหลังคลอดได้ด้วย แต่ประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการคลอดจะมีระยะเวลารอคอยประมาณ 1 ปี ดังนั้นควรต้องวางแผนไว้ล่วงหน้า เพื่อจะได้ใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพในช่วงคลอดพอดี

เมื่อลูกน้อยแสนน่ารักได้อยู่กับครอบครัวที่อบอุ่นแล้ว สุขภาพของลูกน้อยก็สำคัญเช่นเดียวกัน และเด็กเล็กมีโอกาสที่จะเจ็บป่วยได้บ่อย จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลที่สูง การทำประกันสุขภาพให้ลูกจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากจะเป็นการรักษาพยาบาลแล้ว ก็สามารถทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ไปพร้อมๆกันได้ นอกจากจะคุ้มครองสุขภาพแล้ว ยังเป็นการออมเงินให้กับลูก เพราะจะได้เงินคืนเมื่อครบสัญญา ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 20 ปี เมื่อถึงเวลานั้นลูกของคุณก็จะอยู่ในวัยทำงาน และเงินที่ได้จากประกันนี้ก็สามารถเป็นเงินทุนของลูกในอนาคตได้อีกด้วย

“การเริ่มต้นวางแผนการเงินตั้งแต่เริ่มต้นเป็นสิ่งสำคัญเมื่อต้องการมีลูก”

วางแผนการเงินสำหรับการศึกษา

เมื่อคุณพ่อคุณแม่วางแผนจะมีลูกแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับลูกของคุณคือ การศึกษาที่ดีของลูก พ่อแม่ทุกคนย่อมต้องการให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดี มีความรู้ความสามารถ ดังนั้นจึงต้องวางแผนการเงินสำหรับการศึกษาของลูกในอนาคตเอาไว้ด้วย เพราะการศึกษาที่ดีจำเป็นจะต้องใช้เงินจำนวนมาก เมื่อลูกของคุณเติบโตขึ้น ค่าใช้จ่ายในการศึกษาก็จะเพิ่มมากขึ้น การวางแผนการเงินสำหรับการศึกษาของลูกนั้นแตกต่างกันไปตามช่วงการเรียน ดังนี้

วัยอนุบาล (4-7 ปี) – วัยนี้เป็นวัยที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องเสริมสร้างพัฒนาการของลูก เพราะพื้นฐานพัฒนาการและทักษะที่ดี ย่อมส่งผลให้ลูกของเรามีอนาคตที่ดี และการเลือกโรงเรียนก็เป็นปัจจัยสำคัญมากสำหรับเด็กวัยนี้ การเลือกโรงเรียนอนุบาลที่ดี จะทำให้ลูกของเรามีพัฒนาการที่ดีไปด้วย ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องวางแผนเลือกโรงเรียนอนุบาลเพื่อให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดี และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการวางแผนการเงินสำหรับเข้าศึกษาในชั้นอนุบาล โดยค่าใช้จ่ายหลักๆจะไปอยู่ที่ค่าเทอมของลูกนั่นเอง สำหรับค่าเทอมของเด็กอนุบาลจะขึ้นอยู่กับประเภทของโรงเรียน ถ้าเป็นโรงเรียนรัฐบาลก็จะมีตั้งแต่เรียนฟรีจนถึงค่าเทอมหลักพัน แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกของเราเรียนที่โรงเรียนเอกชน ก็จะมีค่าเทอมสำหรับเด็กอนุบาลอยู่ที่ประมาณ 20000 บาทขึ้นไปจนถึงหลักแสนบาท

วัยประถม(7-12 ปี) – วัยประถมจะต่อเนื่องกับวัยอนุบาล ถือเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องได้รับ สำหรับวัยประถมนี้สามารถเลือกโรงเรียนที่จะศึกษาได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชน โรงเรียนสาธิต หรือโรงเรียนนานาชาติ นอกจากนี้วัยประถมเป็นวัยที่จะต้องได้รับการเสริมทักษะที่มากขึ้น และอาจมีค่าเรียนพิเศษสำหรับทำคะแนนดีๆเพื่อนำไปศึกษาต่อในระดับมัธยม และวัยประถมก็จะมีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆนอกเหนือจากค่าเทอมเช่นเดียวกัน ได้แก่ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียน ค่าเรียนพิเศษ และค่าขนมสำหรับลูกเพื่อซื้อของในโรงเรียน โดยรวมๆแล้วเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20,000 – 150,000 บาท ต่อเทอม ขึ้นอยู่กับประเภทโรงเรียนที่คุณพ่อคุณแม่เลือกให้ลูกด้วย

วัยมัธยม (12-18 ปี) – สำหรับวัยมัธยมจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากวัยประถม ซึ่งเมื่อเข้าสู่วัยมัธยม ลูกของคุณต้องสอบเข้าเพื่อที่จะได้เรียนในโรงเรียนที่ดีที่สุด ซึ่งก่อนจะสอบเข้าได้นั้นก็อาจต้องเรียนพิเศษเพื่อติวเข้ม ก็จะมีค่าเรียนพิเศษก่อนเข้าเรียนมัธยม และโรงเรียนมัธยมก็มีหลายประเภทเช่นเดียวกับโรงเรียนประถม เมื่อได้เข้าเรียนชั้นมัธยมแล้ว ก็จะมีค่าใช้จ่ายตามมาอีกเช่นกัน ได้แก่ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นชุดนักเรียน ชุดพละ ชุดลูกเสือ เนตรนารี หรือยุวกาชาด หรือบางโรงเรียนจะมีเครื่องแบบประจำโรงเรียนอีกด้วย ตลอดจนค่าเทอมที่อยู่ระหว่างหลักพันจนถึงหลักแสนบาทต่อเทอม และสิ่งสำคัญสำหรับเด็กวัยมัธยมคือค่าเรียนพิเศษ สำหรับเพิ่มคะแนนในชั้นเรียนและสำหรับการแอดมิชชั่นเข้ามหาวิทยาลัยที่ดี ถือได้ว่าวัยมัธยมนั้นสำคัญต่ออนาคตของลูกมากๆ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องวางแผนการเงินเอาไว้ล่วงหน้าหลายๆปี เพื่อที่จะได้สนับสนุนการศึกษาของลูกให้ดีที่สุดนั่นเอง

วัยมหาวิทยาลัย (18-24 ปี) – มหาวิทยาลัยนั้นมีทางเลือกที่หลากหลายขึ้นอยู่กับสาขาที่อยากเรียน ตลอดจนอันดับและชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยก็มีผลต่อการเลือกศึกษาต่อของลูกด้วย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยรัฐบาล มหาวิทยาลัยเอกชน หรือมหาวิทยาลัยรัฐบาลที่คิดค่าเทอมเหมือนกับเอกชน เพราะเป็นหลักสูตรพิเศษหรือหลักสูตรนานาชาติ ในส่วนของค่าเทอมในการเรียนมหาวิทยาลัยนั้นขึ้นอยู่กับประเภทสาขาและประเภทมหาวิทยาลัยที่เลือกเรียน โดยเริ่มต้นที่ 15000 บาท จนถึง 500000 บาทต่อเทอม รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นค่าหอพัก ค่าน้ำค่าไฟสำหรับลูกที่เรียนมหาวิทยาลัยไกลบ้าน ค่ากิจกรรมต่างๆภายในคณะ ค่าธรรมเนียมต่างๆที่มหาวิทยาลัยเรียกเก็บนอกเหนือจากค่าเทอม ตลอดจนค่าใช้จ่ายรายเดือนให้กับลูกในขณะศึกษา เป็นต้น

ต้องวางแผนการเงินจนลูกเรียนจบระดับปริญญาตรี จะทำให้เราตั้งเป้าหมายเก็บเงินได้อย่างดี

อย่าลืมคิดถึงอัตราเงินเฟ้อในอนาคตด้วย

การวางแผนการเงินสำหรับการมีลูกจะต้องคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อในอนาคตด้วย นั่นหมายความว่า มูลค่าเงินจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป อย่างเช่น ปัจจุบันเรามีเงินอยู่ 40 บาท เราสามารถซื้อข้าวผัดกะเพราได้ แต่ในอนาคตเราอาจไม่สามารถใช้เงิน 40 บาทซื้อข้าวผัดกะเพราได้ เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ของแพงขึ้น ทำให้มูลค่าเงินลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อสำหรับการศึกษาอยู่ที่ 6% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อค่ากินอยู่ที่ประมาณ 3% ต่อปี

เพื่อให้ลูกมีคุณภาพชีวิตที่ดี พ่อแม่ต้องวางแผนการเงินให้ละเอียด

การมีลูกเปรียบเสมือนการเติมเต็มความรักในครอบครัว พ่อแม่ที่วางแผนการเงินสำหรับมีลูกนั้นจะช่วยให้ลูกได้รับคุณภาพชีวิตที่ดี มีพัฒนาการและทักษะที่ดีตามไปด้วย แต่การวางแผนทางการเงินเป็นเพียงส่วนประกอบของการเลี้ยงดูลูกเท่านั้น พ่อแม่จึงต้องเอาใจใส่เด็กให้มาก ทั้งคอยให้ความรัก คอยสอนคอยตักเตือน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับลูก และสนับสนุนลูกในทุกๆช่วงวัย ก็จะทำให้ครอบครัวของคุณเป็นครอบครัวที่อบอุ่นไปด้วยความรัก

ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ

ประเภทของสินเชื่อ

คู่มือยอดนิยมสำหรับการเงิน