Connect with us

ธนาคารทุกแห่งปรับลดดอกเบี้ย ลดค่าปรับและไม่คิดค่าธรรมเนียม ATM

ลดดอกเบี้ย ลดค่าปรับ ไม่คิดค่าธรรมเนียมบัตร แค่ฟังแล้วก็ฟิน แต่จะมีรายละเอียดยังไง ให้ Tadoo ช่วยอธิบายให้คุณ

ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงอีกต่อไป

เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และสถานการณ์โควิด 19 กำลังระบาด จึงทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการให้สถาบันการเงินทุกแห่งปรับลดโครงสร้างหนี้และเงินทุนหมุนเวียน เพื่อผ่อนปรนให้แก่ลูกหนี้ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

จุดเด่น

  • ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด
  • ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
  • ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต

ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการลดค่าปรับ ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้

เนื่องจากภาวะหนี้สินของประชาชนที่มีมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โควิด 19 กำลังระบาด โดยส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ของลูกหนี้โดยตรง ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ออกมาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้และให้เงินทุนหมุนเวียน แก่บุคคลทั่วไป และผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถชำระหนี้ได้โดยไม่เสียประวัติในเครดิตบูโร โดยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่ยังผ่อนชำระปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เสีย และให้สถาบันการเงินพิจารณาขยายเวลาชำระหนี้ให้ยาวขึ้น รวมถึงพิจารณาดอกเบี้ยผ่อนปรนสำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหา ดังนั้น สถาบันการเงินจึงได้กำหนดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับและค่าธรรมเนียมใหม่เพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ โดยสถาบันการเงินต่างๆได้มีมาตรการดังต่อไปนี้

ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด

สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล หรือสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย โดยมีลักษณะการผ่อนชำระที่เป็นงวด ซึ่งมาตรการเก่านั้น สถาบันการเงินจะคิดค่าปรับจากวงเงินสินเชื่อที่กู้ยืมมาทั้งก้อน ที่ทำให้ค่าปรับที่ออกมาจึงเป็นจำนวนเงินที่สูง ทำให้ลูกหนี้บางรายไม่สามารถชำระหนี้ได้ แต่สถาบันการเงินได้ออกเกณฑ์ใหม่โดยให้คิดค่าปรับจากยอดเงินต้นคงเหลือ ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้ได้มากกว่า อีกทั้งค่าปรับที่ไม่สูงนั้นช่วยให้ลูกหนี้ได้มีสิทธิ์เลือกสถาบันการเงินที่ให้มาตรการที่จ่ายเงินน้อยที่สุดและช่วยเพิ่มการแข่งขันในระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่าง กรณีที่เรากู้เงินจากธนาคารมา 10 ล้านบาท โดยกำหนดให้ชำระคืนภายใน 10 ปี: โดยปกติเราเป็นผู้ที่ชำระหนี้อย่างตรงเวลาสม่ำเสมอตลอดเวลา 3 ปี และเราได้ผ่อนเงินต้นคืนไปแล้ว 3 ล้านบาท ดังนั้นจะมียอดเงินต้นคงเหลืออยู่ 7 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้น กิจการที่เราทำอยู่กำลังไปได้ดี จึงทำให้เรามีเงินก้อนมาปิดหนี้จำนวน 7 ล้านบาทได้จนหมด แต่ธนาคารจำเป็นต้องคิดค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนด เพราะเราได้ชำระหนี้หมดก่อนระยะเวลาที่กำหนดนั่นเอง โดยการคิดค่าปรับแบบเดิมจะคิดจากเงินกู้ทั้งหมด 10 ล้านบาท โดยให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2% ต่อปี เราจะต้องเสียค่าปรับ จำนวน 200,000 บาท (10,000,000 x ดอกเบี้ย 2% )

แต่มาตรการใหม่ที่ออกมานั้น ทำให้ค่าปรับแบบใหม่ถูกคิดจาก“เงินต้นคงเหลือ” เท่านั้น นั่นหมายความว่า ถ้าเรามียอดเงินต้นคงเหลืออยู่ 7 ล้านบาท จะต้องเสียค่าปรับเพียงแค่ 140,000 บาทเท่านั้น (7,000,000 x ดอกเบี้ย 2%)

ซึ่งประหยัดเงินได้มากถึง 60,000 บาท เลยทีเดียวสำหรับกรณีตัวอย่างนี้

นอกจากนั้น ธนาคารได้กำหนดระยะเวลา “ยกเว้น” ค่าปรับการไถ่ถอนก่อนกำหนดให้กับลูกหนี้อีกด้วย ซึ่งเงื่อนไขส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละธนาคาร ตัวอย่างเช่น ไม่ต้องเสียค่าปรับไถ่ถอนถ้าชำระหนี้ทั้งหมดก่อนกำหนดหลังจากผ่อนชำระมาแล้ว 5 ปี หรือ 7 ปี เป็นต้น

“มาตรการนี้มีเพื่อผ่อนปรนการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้”

ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเพื่อธุรกิจรายย่อย ที่มีการผ่อนชำระเป็นงวด การคิดดอกเบี้ยแบบเดิมนั้นจะคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากฐานของเงินต้นคงเหลือ แต่การคิดดอกเบี้ยแบบใหม่นั้น จะคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากเงินต้นของค่างวดปัจจุบันที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ
นอกจากนี้สถาบันการเงินได้กำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด เช่น ลูกหนี้เกิดเหตุสุดวิสัย ก็สามารถผ่อนผันชำระหนี้ล่าช้าไม่เกิน 3 วัน หรือ 5 วัน เป็นต้น และให้แจงรายละเอียดของยอดหนี้ที่ค้างชำระให้ชัดเจน เช่น ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ การปรับลดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ลูกหนี้สามารถจ่ายหนี้คืนได้ และยังเป็นธรรมแก่ลูกหนี้อีกด้วย

ยกตัวอย่าง หากเรากู้เงินซื้อบ้าน 5 ล้านบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 8% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนนาน 20 ปี และชำระหนี้งวดละ 42,000 บาท:

ปกติเราจะชำระค่าบ้านตรงเวลาทุกเดือน แต่ว่าพอถึงงวดที่ 25 เราเกิดมีเหตุสุดวิสัยและไม่สามารถชำระหนี้ตรงเวลาได้ จึงทำให้จ่ายหนี้ล่าช้าไป 30 วัน ซึ่งหนี้จำนวน 42,000 บาทของงวดที่ 25 นั้น แบ่งออกเป็นเงินต้น 10,000 บาท และดอกเบี้ย 32,000 บาท ซึ่งมีเงินต้นคงเหลืออีก 4.77 ล้านบาท

การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบเดิมจะคำนวณจากเงินต้นคงเหลือทั้งหมด 4,770,000 x ดอกเบี้ย 8% x จำนวนวันที่จ่ายล่าช้า จึงทำให้เราต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัด 31,364.38 บาท

แต่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ จะคำนวณดอกเบี้ยจาก “เงินต้นงวดที่ผิดนัดชำระ” จะทำให้เราจะเสียดอกเบี้ยเพียงแค่ 65.75 บาทเท่านั้น (10,000 x ดอกเบี้ย 8% x จำนวนวันที่จ่ายล่าช้า)

ซึ่งมาตรการดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ จะมีผลบังคับใช้ 1 พ.ค. 63 เป็นต้นไป

เป็นผลดีกับลูกหนี้ที่เผชิญภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถชำระหนี้ได้ และไม่เสียเครดิต

ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต

มาตรการใหม่ที่ออกมานี้จะให้สถาบันการเงินคืนค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตในกรณีที่ผู้ใช้บริการต้องการยกเลิกการใช้บัตร ซึ่งเดิมที่จะไม่มีการคืนส่วนต่างแก่ผู้ใช้บัตรการบัตร หรือจะคืนก็ต่อเมื่อมีการร้องขอเท่านั้น แต่มาตรการใหม่นั้น สถาบันการเงินจะต้องคืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรแก่ผู้ใช้บริการโดยที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องร้องขอ และให้งดเว้นค่าธรรมเนียมกรณีออกบัตรใหม่หรือรหัสบัตรทดแทน แต่ถ้าบัตรที่ออกใหม่หรือรหัสทดแทนมีต้นทุนสูงอาจพิจารณาจัดเก็บได้ตามความเหมาะสม

เมื่อเรามีบัตร ATM 1 ใบ ซึ่งปกติจะเสียธรรมเนียมบัตรเป็นรายปี เช่น ปีละ 500 บาท เมื่อเราถ้าเราใช้บัตรไป 3 เดือน หรือ 90 วัน แล้วต้องการเลิกใช้ จะทำให้เราเสียค่าธรรมเนียม 500 บาทไปอย่างน่าเสียดาย แต่มาตรการใหม่นั้น ธนาคารจะต้องคืนเงินให้เราตามสัดส่วนโดยคิดจากค่าธรรมเนียมรายปีลบส่วนที่ใช้ไปแล้ว อย่างกรณีนี้เราจะได้เงินคืน 376.71 บาท ซึ่งคิดจาก ค่าธรรมเนียม – (ค่าธรรมเนียมxจำนวนวันที่ใช้บัตร ÷ 365)

เมื่อมีมาตรการออกมาแล้ว ให้พยายามชำระหนี้อย่างตรงเวลาที่สุด

เพื่อเป็นการสร้างประวัติเครดิตที่ดี และทำให้เราเป็นลูกค้าชั้นดีของธนาคารในอนาคต เมื่อเราต้องการทำธุรกรรมก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น และพยายามชำระหนี้ให้ตรงเวลา อย่าล่าช้าเป็นอันขาด เพื่อเป็นการสร้างวินัยทางการเงินที่ดีให้กับเรา

ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ

ประเภทของสินเชื่อ

คู่มือยอดนิยมสำหรับการเงิน