นำรถไปใช้ลากจูงประกันคุ้มครองไหม
จะหวังดีช่วยเหลือผู้อื่นนั้น ต้องรู้ก่อนว่าหากเกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายขึ้นประกันคุ้มครองไหม
จะหวังดีช่วยเหลือผู้อื่นนั้น ต้องรู้ก่อนว่าหากเกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายขึ้นประกันคุ้มครองไหม
การใช้รถนำไปลากจูง คือการที่เมื่อมีรถเสียแล้วเรานำรถของเราไปลากจูงรถคันที่ไม่สามารถขับเคลื่อนที่ได้นั่นเอง แล้วการหวังดีในลักษณะนี้สามารถทำได้หรือเปล่า ถ้าทำไปแล้วเกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายขึ้นใครจะเป็นคนรับผิดชอบ ทาง Tadoo มีคำตอบมาฝาก
สำหรับรถลากจูงในความหมายที่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 คือ “รถยนต์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับลากจูงรถหรือเครื่องมือการเกษตรหรือเครื่องมือการก่อสร้าง โดยตัวรถเองนั้นมิได้ใช้สำหรับบรรทุกคนหรือสิ่งของ”
นำรถไปใช้ลากจูงเกิดอุบัติเหตุใครเป็นฝ่ายผิด
รถยนต์ A ทำการลากจูงรถยนต์ B ที่เครื่องยนต์ขัดข้องไม่สามารถขับเคลื่อนได้ โดยใช้เชือก โซ่ หรืออื่นๆ ในการลากจูง และระหว่างที่กำลังลากจูงนั้น เชือกที่ใช้ในการลากจูงได้ขาดลง ส่งผลให้รถยนต์ B ไหลไปชนทรัพย์สินบุคคลภายนอกเสียหาย
กรณีเช่นนี้ผู้ขับรถยนต์ A ที่เป็นคันลากจูงเป็นฝ่ายผิด จะต้องเป็นผู้ชดใช้ความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก โดยบริษัทรับประกันภัยของรถยนต์ A ไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากเป็นข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุไว้ว่า “การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครอง การใช้ลากจูงหรือผลักดัน เว้นแต่รถที่ถูกลากจูง หรือถูกผลักดันได้ประกันภัยไว้กับบริษัทด้วย หรือเป็นรถลากจูงโดยสภาพ หรือรถที่มีระบบห้ามล้อเชื่อมโยงถึงกัน”
นำรถไปใช้ลากจูงเกิดอุบัติเหตุใครรับผิดชอบ
ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ B หากทำประกันรถยนต์ชั้น 1 ไว้บริษัทรับประกันภัยของรถยนต์ B จะเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากรถยนต์ B ถูกลากจูงจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ แต่เนื่องจากรถยนต์ B ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดตามกฎหมาย ดังนั้นบริษัทรับประกันภัยของรถยนต์ B สามารถไปเรียกร้องความเสียหายจากผู้ผิดต่อได้นั่นก็คือ ผู้ขับรถยนต์ A
การลากจูงรถยนต์คันอื่นจึงควรทำด้วยความระมัดระวัง เพราะนอกจากจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แล้ว อาจยังต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมดอีกด้วย วิธีที่ดีที่สุดควรใช้รถที่สร้างไว้ลากจูงโดยเฉพาะ ที่มีระบบการยกและมีการทำประกันภัยสำหรับการลากจูง
“จะหวังดีช่วยเหลือผู้อื่นต้องไม่นำมาซึ่งความเดือดร้อนถึงตัวเอง”
สาเหตุที่บริษัทประกันรถยนต์ให้ความรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ A และ B ต่างกันนั้นก็เพราะว่า รถยนต์ A ทำผิดข้อตกลงของบริษัทประกัน เพราะตามกรมธรรม์มีการระบุไว้แล้วว่า ห้ามใช้รถเพื่อการลากจูงใดๆ ทั้งสิ้น และในเมื่อรถยนต์ A ทำผิดข้อตกลงจากกรมธรรม์ บริษัทประกันรถยนต์จึงมีสิทธิ์ปฏิเสธความคุ้มครองได้
สำหรับรถยนต์ B ซึ่งเป็นฝ่ายที่ถูกลากจูงนั้น บริษัทประกันรถยนต์ถือว่าไม่ได้ทำผิดตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ และไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้นบริษัทประกันของรถยนต์ B จึงสามารถเรียกร้องความเสียหายจากการลากจูงกับรถยนต์ A ที่เป็นฝ่ายผิดได้อีกด้วย
จัดการปัญหาด้วยวิธีที่ถูกต้อง ไม่ส่งผลความเดือดร้อนตามมาภายหลัง
จริงอยู่ว่าการมีน้ำใจเป็นเรื่องที่ดี แต่การช่วยเหลือผู้อื่นสมควรเป็นวิธีที่ถูกต้อง และไม่เป็นการทำให้ตัวเองต้องเดือดร้อนในภายหลัง ดังนั้น หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ไม่ควรนำรถของตัวเองไปลากจูงรถของใครทั้งสิ้น เพราะเมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นมาบริษัทประกันรถยนต์ไม่ได้ให้ความคุ้มครองรถของเรา และตัวเราเองอาจจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายที่ตามมาอีกด้วย หนทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขสถานการณ์แบบนี้คือ โทรแจ้งอู่ให้นำรถมาลากจูงรถคันที่เกิดอุบัติเหตุ เพราะค่าใช้จ่ายในการใช้รถลากจูงจากอู่ซ่อมนั้น จะอยู่ในความคุ้มครองของบริษัทประกันรถยนต์อยู่แล้ว
เมื่อคุณรู้แบบนี้แล้วว่า การนำรถของตัวเองไปใช้ลากจูงรถคันอื่น เสี่ยงที่จะเกิดปัญหาตามมาภายหลัง และหากมีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น บริษัทประกันไม่รับผิดชอบ และเราเองยังต้องรับผิดชอบค่าความเสียหายทั้งหมดอีก ดังนั้น ควรช่วยเหลือผู้อื่นให้ถูกวิธี รวมทั้งทำประกันรถยนต์ไว้ ถือเป็นทางเลือกที่ดี เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น สามารถแจ้งบริษัทประกันขอรถลากจูงได้ สนใจประกันรถยนต์ เลือกผ่าน tadoo.co