Connect with us

การเบิกเคลมกรณีทุพพลภาพจากอุบัติเหตุ

อุบัติเหตุไม่มีใครอยากให้เกิด หากต้องกลายเป็นบุคคลทุพพลภาพจะเบิกเคลมกับบริษัทประกันอย่างไรได้บ้าง

ทุพพลภาพมีกี่ประเภท

ทุพพลภาพ มีความหมายว่า การสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือร่างกาย หรือสูญเสียภาวะปกติของจิตใจจนทำให้ความสามารถในการทำงานลดลง หรือถึงขั้นประกอบการงานตามปกติไม่ได้เลย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการแพทย์กำหนด ซึ่งทุพพลภาพแบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้

1. ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง คือ ทุพพลภาพถึงขนาดที่ไม่สามารถประกอบอาชีพใดหรือทำงานใดเพื่อสินจ้างได้โดยสิ้นเชิงและตลอดไป
2. ทุพพลภาพชั่วคราว คือ ทุพพลภาพถึงขนาดที่ไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานในอาชีพประจำตามปกติได้ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง อาจส่งผลให้ทำงานเดิมตามปกติไม่ได้ แต่สามารถทำงานอื่นได้

จุดเด่น

  • เบิกเคลมกรณีทุพพลภาพจาก พ.ร.บ.และความคุ้มครองเพิ่มเติมในประกันรถจักรยานยนต์
  • ทุพพลภาพมีทั้งแบบโดยสิ้นเชิงและชั่วคราว
  • รู้ขั้นตอนและเอกสารในการเบิกเคลมกรณีทุพพลภาพ

เบิกเคลมกรณีทุพพลภาพได้จากไหนบ้าง

การเบิกเคลมกรณีทุพพลภาพ ผู้ประสบภัย ทายาทตามกฎหมายหรือผู้รับผลประโยชน์ สามารถทำเรื่องเบิกเคลมได้จากทั้ง พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นประกันภัยภาคบังคับที่รถทุกคันต้องมี และสำหรับผู้ที่ทำประกันรถจักรยานยนต์ควบคู่ไปด้วย สามารถเบิกเพิ่มได้จากความคุ้มครองเพิ่มเติมในประกันรถจักรยานยนต์ ซึ่งเงื่อนไขเป็นไปตามแผนกรมธรรม์ที่ทำไว้

เอกสารเบิกเคลมกรณีทุพพลภาพ

เอกสารในการใช้เบิกเคลมกรณีทุพพลภาพ ทั้งจาก พ.ร.บ.และประกันรถจักรยานยนต์ ใช้เหมือนๆ กัน ได้แก่
เอกสารที่ใช้ในการเบิกเคลมกรณีทุพพลภาพถาวร หรือสูญเสียอวัยวะ

– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน /สำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานที่ทางราชการออกให้ ที่สามารถพิสูจน์ตัวตนผู้ประสบภัย
– ใบรับรองแพทย์
– หนังสือรับรองคนพิการ ที่แสดงถึงการสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ
– สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน หรือหลักฐานที่แสดงได้ว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายจากการประสบภัย

“เบิกเคลมทุพพลภาพต้องมีหนังสือรับรองคนพิการ”

ขั้นตอนเบิกเคลมกรณีทุพพลภาพจากทำอย่างไร

1. ติดต่อเจ้าหน้าที่บริษัทประกัน หรือ พ.ร.บ. เพื่อทำการแจ้งเคลมและบอกเหตุการณ์

2. ผู้ประสบภัยหรือทายาทตามกฎหมาย สามารถยื่นเรื่องเบิก พ.ร.บ. ผ่านทางโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา หรือผ่านบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

3. ผู้ประสบภัย หรือทายาทโดยชอบธรรมจะต้องแจ้งความลงบันทึกประจำวัน เพื่อนำใบแจ้งความมาเป็นเอกสารในการเบิก พ.ร.บ.

4. นำเอกสารต่างๆ ไปยื่นเรื่องเบิกเคลม พ.ร.บ. และประกันรถจักรยานยนต์

5. พ.ร.บ. จะช่วยคุ้มครองค่าเสียหายต่างๆ เช่น ค่าเสียหายเบื้องต้น หรือ ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่ผู้ประสบภัยหรือทายาทตามกฎหมาย ภายใน 7 วันทำการ สำหรับประกันรถจักรยานยนต์จะจ่ายค่าชดเชยตามเงื่อนไขของแผนกรมธรรม์ที่ทำไว้

6. การดำเนินเรื่องเบิกประกัน พ.ร.บ. สามารถทำได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน หรือ 180 วันนับจากวันเกิดเหตุ

หากตรวจสอบว่าเป็นฝ่ายถูกในอุบัติเหตุ พ.ร.บ.จ่ายชดเชยเพิ่มเติม

การจ่ายค่าชดเชยกรณีทุพพลภาพของ พ.ร.บ.เป็นอย่างไร

การจ่ายค่าชดเชยกรณีทุพพลภาพของ พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ชดเชยเบื้องต้นโดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ฝ่ายถูกผิด
– ค่ารักษาพยาบาล (จ่ายตามจริง) กรณีบาดเจ็บ เบิกได้สูงสุดคนละ 30,000 บาท
– กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร (พิการ) เบิกได้คนละ 35,000 บาท
ในกรณีที่ได้รับความเสียหายทั้ง 2 กรณี จะได้รับเงินชดเชยรวมกันไม่เกิน 65,000 บาท

ค่าชดเชยเพิ่มเติม กรณีที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นฝ่ายถูกเท่านั้น
– ค่ารักษาพยาบาล (ตามจริง) สูงสุดคนละ 80,000 บาท
– กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง คนละ 500,000 บาท
– กรณีสูญเสียอวัยวะ 2 ส่วนขึ้นไป ได้รับเงินชดเชย คนละ 500,000 บาท
– กรณีสูญเสียอวัยวะ 1 ส่วน ได้รับเงินชดเชย คนละ 250,000 บาท
– กรณีสูญเสียนิ้ว ตั้งแต่นิ้วเดียวขึ้นไป ได้รับเงินชดเชย คนละ 200,000 บาท
– ทุพพลภาพถาวร (ไม่สามารถประกอบอาชีพประจำได้) ได้รับเงินชดเชย คนละ 300,000 บาท
– กรณีนอนพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน ได้รับเงินชดเชย วันละ 200 บาท (ไม่เกิน 20 วัน)

ประกันรถจักรยานยนต์จ่ายค่าชดเชยกรณีทุพพลภาพอย่างไรบ้าง

ในส่วนของความคุ้มครองเพิ่มเติมในประกันรถจักรยานยนต์กรณีทุพพลภาพ แบ่งเป็น 2 เคสดังนี้

ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง

ถ้าความบาดเจ็บมีผลภายใน 12 เดือน นับแต่วันเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ผู้ได้รับความคุ้มครองเกิดทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 12 เดือน หรือมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าผู้ได้รับความคุ้มครองนั้นตกเป็นบุคคลทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง บริษัทจะชดเชยค่าสินไหม ทดแทนให้ตามจำนวนเงินเอาประกันภัยดังระบุไว้ในตารางกรมธรรม์

ทุพพลภาพชั่วคราว

ถ้าความบาดเจ็บที่ได้รับทำให้ผู้ได้รับความคุ้มครองตกเป็นบุคคลทุพพลภาพชั่วคราวภายใน 180 วัน นับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุ ทำให้ผู้ได้รับความคุ้มครองต้องรักษาตัวติดต่อกันในโรงพยาบาลในฐานะคนไข้ใน และเป็นเหตุให้ผู้ได้รับความคุ้มครองตกเป็นบุคคลทุพพลภาพชั่วคราว บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ได้รับความคุ้มครองเป็นระยะๆ ตลอดเวลาที่ยังทุพพลภาพอยู่ตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์แต่ไม่เกิน 52 สัปดาห์ ต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง

ผลิตภัณฑ์ประกันรถจักรยานยนต์

ประเภทของประกันรถจักรยานยนต์

คู่มือยอดนิยมสำหรับประกันรถจักรยานยนต์