Connect with us

ทำยังไงดีหากจะทำประกันบ้านแต่ไม่รู้ว่าบ้านมีอายุกี่ปี

อายุบ้านเป็นสิ่งสำคัญในการใช้คำนวณเบี้ยประกันภัย แต่หากไม่ทราบอายุบ้านควรทำอย่างไร

การตรวจสอบอายุบ้านมีความสำคัญอย่างไร

หากคุณได้มีการซื้อบ้านมาใหม่จากบุคคลอื่นและสนใจที่จะทำประกันอัคคีภัยบ้าน สิ่งจำเป็นที่คุณต้องรู้นอกเหนือจากข้อมูลทั่วไปแล้ว คุณต้องรู้อายุบ้านหลังนั้นด้วย เพราะอายุบ้านเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ในการคำนวณหาเบี้ยประกันที่ต้องจ่าย เบี้ยประกันภัยบ้านที่ต้องจ่ายสูงหรือต่ำนั้น สิ่งที่ใช้ในการพิจารณามีดังนี้ ทุนประกันภัยที่เลือกรับความคุ้มครองเมื่อขอสินไหมทดแทน การซื้อความคุ้มครองเสริมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความคุ้มครองต่ออัญมณีและของมีค่า ค่าที่พักชั่วคราว เป็นต้น รูปแบบบ้าน พื้นที่ใช้สอย และอายุของที่อยู่อาศัย โดยปกติแล้วบ้านยิ่งเก่าเท่าไหร่ ยิ่งมีความเสี่ยงในการเสื่อมสภาพสูง จึงอาจส่งผลให้ราคาเบี้ยประกันสูงกว่าบ้านที่เพิ่มสร้างใหม่ หากคุณต้องการคำนวณเบี้ยประกันภัยบ้านที่ต้องจ่ายและไม่ทราบว่าบ้านที่คุณอาศัยอยู่นั่นมีอายุกี่ปี ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ 1.ตรวจสอบอายุบ้านจากหน่วยงานราชการ 2. สอบถามอายุบ้านจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง

จุดเด่น

  • อายุของบ้านมีผลต่อเบี้ยประกันอัคคีภัยบ้าน
  • บ้านเก่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยมากกว่าบ้านใหม่
  • อายุบ้านเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งของการกำหนดเบี้ยประกัน

ตรวจสอบอายุบ้านจากหน่วยงานราชการ

ตรวจสอบแบบประเมินราคาบ้าน – หากคุณมีการจำนองหรืออยู่ในระหว่างการซื้ออสังหาริมทรัพย์คุณจะต้องมีการประเมินราคาบ้านของคุณ โดยอายุของทรัพย์สินมักจะระบุไว้ในแบบสำรวจหรือโฉนดที่ดิน เอกสารเหล่านี้จะช่วยให้คุณทราบถึงปีที่บ้านของคุณได้สร้างขึ้น การประเมินราคาบ้าน โดยปกติแล้วจะเป็นเงื่อนไขของการกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัย

ติดต่อหน่วยงานราชการ – หน่วยงานราชการอาจมีเอกสารใบขออนุญาตสร้างบ้านที่คุณกำลังอาศัยอยู่ คุณสามารถร้องขอเพื่อตรวจสอบว่าบ้านของคุณได้มีการขออนุญาตสร้างบ้านเมื่อใด

สอบถามอายุบ้านจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ถามเพื่อนบ้านของคุณ – หากบ้านของคุณมีลักษณะคล้ายกันกับเพื่อนบ้าน อาจหมายความว่าบ้านของคุณสร้างขึ้นในเวลาเดียวกันแม้ว่าจะไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป แต่เพื่อนบ้านอาจรู้ข้อมูลปีที่บ้านของคุณถูกสร้างขึ้น

การสอบถามผู้ขายหรือตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ – หากคุณอยู่ระหว่างการซื้อบ้านโปรดสอบถามจากผู้ขายหรือตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ ในแบบฟอร์มข้อมูลทรัพย์สินของผู้ขาย อาจมีการระบุอายุของทรัพย์สินนั้นอยู่ด้วย

“อายุของบ้านเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการกำหนดเบี้ยประกันแต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นตัวกำหนดราคาเบี้ยประกันบ้านของคุณ เช่น ทุนประกันภัย การซื้อความคุ้มครองเสริม รูปแบบบ้าน พื้นที่ใช้สอย เป็นต้น”

ควรกำหนดมูลค่าทรัพย์สินในการทำประกันอย่างไร

เพื่อให้ประกันบ้านของคุณได้รับความคุ้มครองที่ดีที่สุดตามเงื่อนไขกรมธรรม์ การกำหนดมูลค่าทรัพย์สินควรจะกำหนดให้ใกล้เคียงกับมูลค่าทรัพย์สินจริงที่จะทำประกันภัย การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยสามารถกำหนดโดย ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง หรือ บริษัทผู้ประเมินราคา แต่ทรัพย์สินที่จะทำประกันภัยสามารถกำหนดเองได้ในเบื้องต้น คือการกำหนดจากมูลค่า สิ่งปลูกสร้าง (อาคาร) โดยใกล้เคียงกับมูลค่าทรัพย์สินจริงมากที่สุด เพื่อให้การรับค่าสินไหมทดแทนมีความคุ้มค่ามากที่สุด โดยส่วนใหญ่แล้วแนะนำให้กำหนดไม่ต่ำกว่า 70 % ของมูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริง

การเลือกทุนประกันภัยที่เหมาะกับบ้านควรเลือกทุนที่มีความใกล้เคียงกับมูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริงของคุณเพื่อให้การเบิกค่าสินไหมทดแทนมีความคุ้มค่ามากที่สุด

การกำหนดมูลค่าทุนประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริง

การกำหนดทุนประกันภัย ต่ำกว่า ราคามูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริง เมื่อขอเบิกค่าสินไหมทดแทน ผู้เอาประกันภัยจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามอัตราส่วนที่ได้รับความคุ้มครองเท่านั้น สัดส่วนที่เหลือจากการคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดเอง

ตัวอย่าง เช่น มูลค่าทรัพย์ (อาคาร) 2,000,000 บาท ได้ทำประกันอัคคีภัยเป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท ต่อมาเพลิงไหม้เสียหายทั้งหลัง (100%) จะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทน 1,000,000 บาท แต่ถ้าเพลิงไหม้เสียหายเป็นบางส่วน เช่น มูลค่าทรัพย์สินที่เสียหาย 300,000 บาท จะได้รับเงินค่าสินไหม

ตามสูตรดังนี้
คิดตามสูตรและวิธีคำนวณ
ค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้ =[(จำนวนเงินเอาประกันภัย /มูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน ณ วันเกิดเหตุ ) x มูลค่าความเสียหาย]
ค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้ = [(1,000,000/2,000,000) x 300,000] = 150,000 บาท

การกำหนดมูลค่าทุนประกันภัยสูงกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริง

การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย สูงกว่า มูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริง เมื่อขอเบิกค่าสินไหมทดแทน ผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินชดเชยตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง แต่ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย ซึ่งจะทำให้ผู้เอาประกันภัยเสียเบี้ยประกันภัยส่วนที่เกินโดยเปล่าประโยชน์

ตัวอย่าง เช่น มูลค่าทรัพย์ (อาคาร) 1,000,000 บาท ได้ทำประกันอัคคีภัยเป็นจำนวนเงิน 1,500,000 บาท ต่อมาเพลิงไหม้เสียหายทั้งหลัง (100%)
จะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทน 1,000,000 บาท เท่านั้น หากทรัพย์สินได้รับความเสียหายเพียงบางส่วน เช่น 50% ก็จะได้รับชดใช้เพียง 500,000 บาท

จะเห็นได้ว่าการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยที่สูงเกินกว่ามูลค่าทรัพย์สิน 500,000 บาททำให้เสียเบี้ยประกันภัยโดยเปล่าประโยชน์

ผลิตภัณฑ์ประกันบ้าน

ประเภทของประกันบ้าน

คู่มือยอดนิยมสำหรับประกันบ้าน