Connect with us

ความแตกต่างระหว่างหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ

หนี้ในระบบและหนี้นอกระบบแตกต่างกันอย่างไร มีข้อดีข้อเสียแบบไหนบ้าง Tadoo หาคำตอบมาให้คุณแล้ว

ประเภทของหนี้

สุภาษิตที่ว่า “การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” นั้นเป็นเรื่องจริงที่สุด แต่ด้วยความจำเป็นต่างๆของเราที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ได้ เพราะรายได้ที่เรามีอยู่มีไม่พอที่จะจ่ายให้ความจำเป็นนั้นๆ เช่น เมื่อเราทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนแต่ต้องการซื้อบ้านสักหลังเพื่อสร้างครอบครัว ถ้าไม่ได้มีเงินเก็บหลักล้านก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะซื้อบ้านด้วยเงินสด หรือถึงแม้มีเงินเก็บเพียงพอสำหรับซื้อบ้านด้วยเงินสด แต่ก็อาจไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ตามมา หรือเราจำเป็นต้องมีรถสักคันเพื่อใช้เดินทางไปไหนมาไหน เพราะบางครั้งระบบขนส่งสาธารณะก็มีไม่ทั่วถึง ดังนั้นการกู้ยืมจึงเป็นสิ่งจำเป็น และเมื่อได้กู้ยืมแล้วก็จะเป็นหนี้ ซึ่งประเภทของหนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ หนี้ในระบบ และ หนี้นอกระบบ

จุดเด่น

  • หนี้ในระบบ คือ หนี้ที่อยู่ในระบบภายใต้การควบคุมของธนาคารหรือสถาบันการเงินของไทย
  • หนี้ในระบบมีอยู่ภายใต้การรับรองโดยกฎหมาย
  • หนี้นอกระบบ คือ หนี้ที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของสถาบันการเงิน ผู้ให้กู้ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลธรรมดา
  • หนี้นอกระบบไม่ได้รับการรับรองด้วยกฎหมาย ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าหนี้ในระบบ

หนี้ในระบบ

หนี้ในระบบ ก็มีความหมายตรงตัวก็คือ เป็นหนี้ที่อยู่ในระบบภายใต้การควบคุมของธนาคารหรือสถาบันการเงินของไทย ซึ่งหนี้ที่เกิดขึ้นในระบบนั้นมาจากการขอสินเชื่อผ่านธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ หรือการสมัครบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ซึ่งการขอสินเชื่อในลักษณะดังกล่าวจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย หมายความว่ากฎหมายจะให้การรับรองว่ามีการกู้ยืมกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และมีการกำหนดดอกเบี้ยเป็นไปตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ถ้าหากผู้กู้ผิดสัญญา ก็อาจถูกดำเนินคดีแพ่งได้

ลักษณะของหนี้ในระบบ

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น หนี้ในระบบจะได้รับการรับรองตามกฎหมาย ซึ่งเงื่อนไขทางกฎหมายต่างๆนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ซึ่งธนาคารหรือสถาบันผู้ให้กู้จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนดอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่ผู้กู้ผิดสัญญาการกู้ยืมกับธนาคารหรือสถาบันการเงินแล้วก็สามารถดำเนินการฟ้องร้องผู้กู้ได้ เพื่อให้ผู้กู้ทำการชำระหนี้ ทั้งนี้ ธนาคารหรือสถาบันสามารถนำทรัพย์ของผู้กู้ไปขายทอดตลาดในกรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้

ในขณะที่ผู้กู้ก็ได้รับรองตามกฎหมายเช่นเดียวกัน ถ้าธนาคารไม่ดำเนินการกู้ยืมไปตามเงื่อนไขก็จะผิดกฎหมาย โดยหนี้ในระบบจะคุ้มครองผู้กู้ในส่วนของอัตราดอกเบี้ย และคุ้มครองไปจนถึงข้อกำหนดในสัญญากู้ยืมให้มีความเป็นธรรมแก่ผู้กู้มากที่สุด หรือถ้าสัญญาการกู้ยืมไม่มีความเป็นธรรม ผู้กู้ก็สามารถฟ้องร้องธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ออกสัญญาได้ทันที

– ระยะเวลาอนุมัติสินเชื่ออาจจะต้องใช้เวลาตรวจสอบข้อมูลและเอกสารประกอบต่างๆ เช่นบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สลิปเงินเดือน เป็นต้น และบางสินเชื่อก็สามารถทราบผลอนุมัติได้รวดเร็วเช่นเดียวกัน
– หนี้ในระบบจะระบุเงื่อนไขในการปล่อยกู้อย่างชัดเจน เช่น อายุ เงินเดือน/รายได้ แหล่งรายได้ ระยะเวลาในการทำงาน เพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้
– อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของหนี้ในระบบ ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดเพียง 20-28% ต่อปี
– เมื่อผู้กู้ชำระหนี้ล่าช้า หรือไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็สามารถเจรจาประนอมหนี้ได้
– สัญญา: สัญญาถูกกำหนดชัดเจน และมีกฎหมายคุ้มครอง
– ผู้ให้กู้คือ ธนาคารหรือสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย

“หนี้ในระบบเป็นหนี้ที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย”

หนี้นอกระบบ

สำหรับหนี้นอกระบบนั้น เป็นหนี้ที่ไม่ได้รับรองจากกฎหมาย แต่เกิดจากการกู้ยืมกันเองระหว่างบุคคลสองฝ่าย หนี้นอกระบบอาจมีลักษณะการกู้ยืมที่แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่จะเป็นการกู้ยืมโดยไม่มีการค้ำประกัน และการกู้ยืมหนี้นอกระบบอาจเกิดขึ้นเพียงแต่การขอยืมปากเปล่าก็ได้ หรืออาจมีการทำสัญญากู้ยืมกันขึ้นระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้เช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นกันทั่วไปของหนี้นอกระบบได้แก่ การติดประกาศเงินด่วนที่พบเห็นตามเสาไฟฟ้า หรือตามรั้วต่างๆ บางครั้งก็เกิดจากการที่บุคคลทั่วไปผู้ที่มีฐานะปล่อยกู้เอง เป็นต้น

หนี้นอกระบบให้เงินเร็วทันใจ แต่ไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย

ลักษณะของหนี้นอกระบบ

สำหรับการกู้ยืมของหนี้นอกระบบนั้นจะดำเนินการได้ง่ายกว่าหนี้ในระบบ เพราะไม่ต้องยื่นเอกสารประกอบใดๆ บางครั้งเพียงแค่ยื่นบัตรประชาชนก็สามารถกู้ยืมได้แล้ว หลังจากทำเรื่องกู้ยืมก็จะได้เงินในทันที การกู้ยืมหนี้นอกระบบจึงง่าย รวบรัด และได้เงินเร็วกว่าหนี้ในระบบ จึงทำให้ผู้ที่เดือดร้อนเรื่องเงินไปกู้หนี้นอกระบบเป็นจำนวนมาก แต่การกู้หนี้นอกระบบนั้นมีปัญหาที่ตามมามากมาย เพราะหนี้นอกระบบไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย ในด้านของผู้กู้ก็สามารถถูกเอาเปรียบได้จากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตลอดจนดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายรวมถึงการคิดดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรมในภายหลัง รวมไปถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้กู้อีกด้วย ในขณะเดียวกันผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้ก็มีความเสี่ยงที่ลูกหนี้จะไม่ชำระหนี้ให้ตรงเวลา หรือมีการเบี้ยวหนี้เกิดขึ้น บางทีถ้าลูกหนี้หลบหนีไปก็ไม่สามารถติดตามเพื่อดำเนินคดีทางกฎหมายได้ และถึงแม้ว่าจะสามารถดำเนินคดีได้ แต่โอกาสที่ลูกหนี้จะชำระหนี้นั้นย่อมน้อยกว่าหนี้ในระบบ

– หนี้นอกระบบนั้นจะได้เงินกู้อย่างรวดเร็ว บางครั้งการอนุมัติเงินกู้ใช้เวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น
– เงื่อนไขในการปล่อยกู้ของหนี้นอกระบบนั้นไม่มีขั้นตอนมากมาย และง่ายต่อการอนุมัติเงินกู้ โดยส่วนมากไม่กำหนดอาชีพของลูกหนี้แต่อย่างใด
– อัตราดอกเบี้ยของหนี้นอกระบบนั้นถือว่าสูงมาก เช่น 20% ต่อเดือนหรือมากกว่า และมีการคิดดอกเบี้ยลอยหากผิดนัดชำระ และบางครั้งก็ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจน จึงทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
– เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระ เจ้าหนี้อาจใช้วิธีการทวงหนี้นอกเหนือกฎหมาย และเอาเปรียบลูกหนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งการทวงหนี้ในบางครั้งอาจเกิดอันตรายต่อชีวิต และทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ตลอดจนมีการยึดทรัพย์สินของเจ้าหนี้ได้ แต่ไม่ได้ใช้วิธีทางกฎหมายแต่อย่างใด

ทางที่ดีที่สุดคืออย่าพยายามเป็นหนี้

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นรายละเอียดต่างๆระหว่างหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ ซึ่งหนี้ทั้งสองประเภทนั้นมีความแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขการใช้เงิน ระยะเวลาอนุมัติ เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าหนี้ประเภทใดก็ไม่ทำให้มีความสุข เพราะต้องคอยกังวลว่าจะหาเงินมาชำระหนี้ตลอดเวลา แต่ด้วยความจำเป็นที่ต้องมีหนี้ คุณจะต้องวางแผนบริหารการใช้เงินและชำระให้ดี เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดปัญหาที่ตามมาหลายอย่างได้ การชำระหนี้ตรงเวลาและเต็มจำนวนจะช่วยให้คุณมีระเบียบวินัยทางการเงินมากขึ้น และพยายามกู้ยืมจากหนี้ในระบบ เพราะคุณก็จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายด้วยเช่นกัน

ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ

ประเภทของสินเชื่อ

คู่มือยอดนิยมสำหรับการเงิน