Connect with us

การกู้ยืมเงินเพื่อการฝากจำนอง

หากต้องการเงินทุน หรือขอสินเชื่อบ้าน ควรที่ต้องศึกษารายละเอียดข้อมูลให้ชัดเจน เพื่อจะได้ไม่เกิดความผิดพลาด

การฝากจำนองคืออะไร

การจำนองคือการที่เราใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันในการชำระหนี้ และไถ่คืนตามระยะเวลาที่กำหนด รูปแบบคล้ายกับการจำนำที่เป็นการนำทรัพย์สิน เช่น สร้อย แหวน นาฬิกา วางไว้เป็นหลักประกันในการกู้เงิน แต่การจำนองจะต้องใช้อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์พิเศษบางประเภทเป็นหลักประกันแทนนั่นเอง หากไม่ชำระหนี้ตามกำหนด เจ้าหนี้มีสิทธิ์ฟ้องให้นำทรัพย์สินไปขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชดใช้คืนได้อีกด้วย

จุดเด่น

  • วงเงินในการอนุมัติในการฝากจำนองนั้น จะขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์หรือหลักประกัน
  • ในกรณีที่ผู้จำนองชำระหนี้ครบทุกงวดแล้ว ให้ผู้จำนองแจ้งไปยังธนาคารที่ขอกู้เงิน

ทรัพย์สินที่สามารถนำฝากจำนองได้มีอะไรบ้าง

ส่วนใหญ่แล้วการขอสินเชื่อจะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ สินเชื่อที่ต้องมีหลักทรัพย์ในการขอ เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อเพื่อธุรกิจ ส่วนทรัพย์สินหรือหลักทรัพย์ที่สามารถนำมาจำนองได้ ยกตัวอย่างเช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด ที่ดินเปล่า คอนโดมิเนียม อาคารพาณิชย์ อพาร์ทเม้นท์ หอพัก มินิมาร์ท เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ รีสอร์ท เกสต์เฮ้าส์ โรงแรม บังกะโล ที่ดินทำสวนผลไม้ และที่นาข้าว

กรณีที่ลูกหนี้ผิดสัญญาไม่สามารถชำระหนี้ได้

กรณีที่ลูกหนี้ผิดสัญญาไม่สามารถชำระหนี้ได้ ผู้รับจำนองจะยังไม่สามารถยึดทรัพย์ตามกฎหมายได้ เพราะทรัพย์สินนั้นยังเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้อยู่ ซึ่งเจ้าหนี้จะต้องไปฟ้องร้องตามกฎหมายเพื่อให้ศาลบังคับลูกหนี้ จากนั้นจึงนำทรัพย์สินนั้นไปขายทอดตลาดที่กองบังคับคดี เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ สัญญาจำนองไม่มีอายุความ แต่จะมีการระบุระยะเวลาชำระหนี้เท่านั้น

“การฝากจำนองนั้นทางธนาคารจะรับพิจารณาเป็นราย ๆไป เช่น ที่ดินไม่ติดถนน ไม่ติดซอย ที่ดินเปล่าขุดบ่อปลา (ขุดหน้าดินขายไปแล้ว) บ้านเป็นปลวก บ้านร้าว บ้านไม่มีคนอยู่อาศัยเกินกว่า 3 ปี ในกรณีติดขายฝากอยู่แล้วไม่รับจดจำนอง”

การขายฝากกับฝากจำนองต่างกันยังไง

สัญญาขายฝาก คือ ผู้ขอกู้เงินจะได้รับการอนุมัติเร็ว และมักจะให้วงเงินสูงกว่าจำนองค่อนข้างเยอะ แต่ก็มีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยของทรัพย์สินที่นำไปทำสัญญา ถ้าโชคร้ายเจอนายทุนไม่ดี ต่อรองไม่ได้ ไถ่ถอนไม่ทันเวลาก็โดนยึดทันที รวมทั้งยังมีค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าการจำนองอีกด้วย ขณะที่การฝากจำนองจะมีความปลอดภัยด้านทรัพย์สินมากกว่า เนื่องจากไม่ต้องขายทรัพย์สินนั้น ๆ ให้เจ้าหนี้ โอกาสที่จะเสียทรัพย์สินจึงน้อย และมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า แต่ข้อเสียก็มีเช่นกันคือ วงเงินที่ได้รับจะประมาณ 10-30% ของราคาประเมินเท่านั้น

การจำนองบ้านหรือที่ดินนั้นก็เหมือนกับการที่เรานำอสังหาริมทรัพย์ของเราไปวางเป็นหลักประกันไว้ในการชำระหนี้ และจะได้คืนก็ต่อเมื่อชำระเงินครบตามสัญญาที่ตกลงกันไว้กับผู้รับจำนอง

หนังสือในการฝากจำนอง ควรมีรายละเอียดอะไรบ้าง

สิ่งสำคัญที่สุดในการขอธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ควรที่ต้องตรวจสอบเอกสารให้ครบถ้วน รายละเอียดของหนังสือในการฝากจำนอง มีดังต่อไปนี้

1. รายละเอียดทรัพย์สิน ในเอกสารต้องระบุรายละเอียดทรัพย์สินที่นำมาจำนองอย่างชัดเจน เช่น ถ้าเป็นหนังสือสัญญาจำนองที่ดินจะต้องมี เลขที่โฉนด เลขที่ดิน หน้าสำรวจ ตำบล อำเภอ และจังหวัดที่ตั้งอยู่

2. รายละเอียดวันที่ทำสัญญา ต้องระบุว่า หนังสือสัญญานี้ทำขึ้นวันที่เท่าไร เดือนอะไร ปีอะไร และทำสัญญาที่ไหน โดยส่วนใหญ่สถานที่มักเป็นสำนักงานที่ดินจังหวัด

3. ระบุชื่อผู้ทำสัญญาในส่วนของผู้จำนองและผู้รับจำนอง ต้องระบุชื่อ เลขประจำตัวประชาชน อายุ สัญชาติ ชื่อของบิดามารดา บ้านเลขที่ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ ของทั้งสองฝ่ายอย่างชัดเจน

4. รายละเอียดข้อตกลงในสัญญา สำหรับข้อตกลงนั้น จะต้องระบุว่าจำนวนเงินที่กู้ครั้งนี้ว่าเท่าไร คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเท่าไร กำหนดเวลาจ่ายหนี้เมื่อไร และระบุจำนวนครั้งที่จะจ่ายดอกเบี้ยหากมีการผิดชำระหนี้ให้ชัดเจน

5. ชื่อผู้ถือโฉนดที่ดินระหว่างการจำนอง เป็นเหมือนพยานผู้รับฝากทรัพย์ที่เป็นหลักประกันเอาไว้ โดยในสัญญาจะถูกทำ 3 ฉบับ เพื่อให้ผู้จำนอง ผู้รับจำนอง และพยานผู้ถือหลักทรัพย์ เก็บเอาไว้คนละหนึ่งฉบับ โดยในแต่ละฉบับจะต้องเขียนกำชับไว้ด้วยว่า ฉบับนี้ให้ใครเป็นผู้ถือ

6. การเซ็นสัญญา ในส่วนท้ายของสัญญาจำนองจะเป็นการเซ็นสัญญา โดยผู้ที่เซ็นสัญญาจำนองจะต้องประกอบด้วย ผู้จำนอง ผู้รับจำนอง, พยาน 2 คน (ฝ่ายละคน), เจ้าพนักงานที่ดิน, ผู้เขียนสัญญา และผู้ตรวจสัญญา เป็นอันสำเร็จ

การไถ่ถอนที่ดิน

ในกรณีที่ผู้จำนองชำระหนี้ครบทุกงวดแล้ว ให้แจ้งไปยังธนาคารที่ขอกู้เงิน จากนั้นรอรับโฉนดที่ดินและหนังสือมอบอำนาจ ไปยื่นเรื่องขอไถ่ถอนที่ดินที่สำนักงานที่ดินได้เลย ทั้งนี้ ถ้าผู้จำนองผิดนัดชำระหนี้หรือไม่สามารถชำระเงินได้ตามกำหนด ก็จะโดนฟ้องร้องเพื่อดำเนินการทางกฎหมาย หากมีคำพิพากษาจากศาล ผู้รับจำนองหรือธนาคารมีสิทธิ์จะนำที่ดินที่จำนองไว้ไปขายทอดตลาด เพื่อเอามาชำระหนี้ที่เหลือ

ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ

ประเภทของสินเชื่อ

คู่มือยอดนิยมสำหรับสินเชื่อ