Connect with us

ไปทำงานต่างประเทศแบบถูกกฎหมายทำอย่างไร

หลายคนอาจมีความฝันที่จะไปทำงานต่างประเทศ แต่การเดินทางไปแบบผิดกฎหมายมีแต่จะนำความเดือดร้อนมาให้ Tadoo จะมาแนะนำวิธีการเดินทางไปทำงานต่างประเทศแบบถูกกฎหมายให้ทุกคนได้รับทราบกัน

การทำงานต่างประเทศแบบถูกกฎหมาย

คนไทยที่ต้องการจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศนั้นควรดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากว่าการเดินทางไปทำงานต่างประเทศแบบผิดกฎหมาย เช่น การหลบหนีเข้าประเทศโดยไม่ขอวีซ่า หรือขอวีซ่าท่องเที่ยวแต่แอบทำงาน ถือว่ามีความผิดและต้องถูกดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการยื่นเรื่องทำงานแบบถูกต้องจะต้องเตรียมตัวมากกว่าแต่ก็ปลอดภัยกว่าและคนที่ทำงานจะได้รับสิทธิ์ทุกอย่างอย่างถูกต้อง สำหรับวิธีการไปทำงานต่างประเทศแบบถูกกฎหมายมี 5 วิธี ดังนี้

1. ดำเนินการผ่านบริษัทจัดหางาน
2. ดำเนินการผ่านกรมการจัดหางาน
3. ผู้ที่จะไปทำงานติดต่อหางานเอง (ต้องแจ้งการเดินก่อนการเดินทางไม่น้อยกว่า 15 วัน)
4. นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงาน
5. นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงาน

จุดเด่น

  • การไปทำงานต่างประเทศแบบผิดกฎหมายอันตรายกว่าการทำงานแบบถูกกฎหมายมาก เพราะทุกขั้นตอนไม่มีความโปร่งใส และอาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ามนุษย์ได้
  • การทำงานต่างประเทศแบบถูกกฎหมายอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าและมีขั้นตอนยุ่งยากกว่า แต่ก็ปลอดภัยและไว้ใจได้

ดำเนินการผ่านบริษัทจัดหางาน

การเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศอย่างถูกกฎหมายนั้นสามารถดำเนินการผ่านบริษัทจัดหางานได้ โดยทางบริษัทจะติดต่อประสานงานให้กับเรา อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจใช้บริการบริษัทใด ควรศึกษาข้อมูลของบริษัทนั้นให้ดีเพราะบริษัทจัดหางานที่จดทะเบียนแบบผิดกฎหมายมีมากมาย คนไทยที่ใช้บริการอาจถูกหลอกได้ สำหรับบริษัทจัดหางานที่เชื่อถือได้ ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

– ต้องแสดงใบอนุญาตจดทะเบียนจากกรมการจัดหางานให้ผู้ใช้บริการได้เห็นและต้องตั้งไว้ที่สำนักงานตามการจดทะเบียน
– ต้องจดทะเบียนพนักงานหรือตัวแทนจัดหางานที่ทำงานกับบริษัท
– เรียกเก็บค่าหัวตามกฎหมายและออกใบเสร็จรับเงินไว้เป็นหลักฐาน
– เก็บเงินได้ล่วงหน้า 30 วันก่อนเดินทาง หากบริษัทไม่ส่งคนไปทำงานตามกำหนด ต้องคืนเงินทันที
– บริษัทต้องส่งคนงานไปตรวจโรคตามสถานพยาบาลที่กำหนด รวมถึงไปทดสอบฝีมือและเข้าอบรมตามสถานที่ที่กำหนด
– บริษัทต้องพาคนทำงานเดินทางไปต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานของกรมการจัดหางาน

ดำเนินการผ่านกรมการจัดหางาน

หน่วยงานรัฐเองก็มีบริการจัดหาแรงงานไปทำงานต่างประเทศแบบถูกกฎหมายเช่นกัน โดยกรมการจัดหางานจะดำเนินการให้แบบไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ นอกจากค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าวีซ่า ค่าสมาชิกกองทุน เป็นต้น สำหรับคนที่อยู่ต่างจังหวัดสามารถสมัครได้ที่สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัดทั่วประเทศ และที่กรุงเทพ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ฝ่ายพิจารณาการไปทำงานตามระบบ IOM และประเทศอื่นๆ กรมการจัดหางาน ในส่วนของขั้นตอนการรับสมัครมีดังนี้

1. ผู้สมัครที่ได้รับเลือกแล้วต้องไปรายงานตัวตามสถานที่ที่กำหนด และยื่นเอกสารดังนี้
– รูปถ่าย 2 นิ้ว
– หนังสือเดินทางทั้งฉบับจริงและสำเนา
– บัตรประจำตัวประชาชนทั้งฉบับจริงและสำเนา
– ทะเบียนบ้านทั้งฉบับจริงและสำเนา
– หลักฐานทางการทหารทั้งฉบับจริงและสำเนา
– ใบผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือ (กรณีช่าง)
– ใบรับรองผ่านการตรวจโรค (ตามสถานพยาบาลที่กำหนด)

2. ตรวจสอบประวัติอาชญากรรมที่กองกำกับการตำรวจสันติบาล

3. ชำระเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

4.ทำบัตรสมาชิกกองทุนฯ

หลังจากเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนแล้ว เมื่อไปถึงสนามบินจะมีเจ้าหน้าที่รอส่งคนงาน และเมื่อไปถึงประเทศปลายทางก็จะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานแรงงานในต่างประเทศมารับ

“การเดินทางไปทำงานต่างประเทศแบบถูกกฎหมายจะได้รับความคุ้มครองจากบริษัทต้นสังกัดหรือนายจ้างอย่างเต็มที่ รวมถึงได้รับสิทธิ์คุ้มครองตามกฎหมายด้วย”

ผู้ที่จะไปทำงานติดต่อหางานเอง

กรณีนี้คนทำงานอาจติดต่อกับบริษัทที่ต่างประเทศเอง หรือมีญาติ เพื่อน หรือคนรู้จักแนะนำ ทั้งนี้ เมื่อคนที่ทำงานต่างประเทศแบบเดินทางไปเองกลับมาพักผ่อนที่ประเทศไทย แล้วต้องการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อทำงานต่อ ต้องแจ้งกรมการจัดหางานไม่น้อยกว่า 10 วันก่อนเดินทาง สำหรับคนที่เพิ่งได้งานและกำลังจะเดินทางควรติดต่อสอบถามการดำเนินการต่าง ๆ กับกรมการจัดหางาน เพื่อขั้นตอนที่ถูกต้องและเหมาะสม

การหลบหนีไปทำงานต่างประเทศเป็นการกระทำที่เสี่ยงอันตราย บางคนอาจถูกจับได้ตั้งแต่ด่านตรวจคนเข้าเมืองทำให้ถูกส่งกลับและถูกแบล็กลิสต์ ดังนั้น คนที่ต้องการทำงานต่างประเทศควรเลือกวิธีการที่ถูกกฎหมายจะดีที่สุด

นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงาน

การที่นายจ้างในประเทศไทยจะพาพนักงานในสังกัดไปทำงานที่ต่างประเทศ อาจเป็นไปได้ว่าบริษัทนี้มีสำนักงานใหญ่ที่ต่างประเทศ หรืออาจประมูลงานที่ต่างประเทศได้จึงต้องจัดหาคนไปทำงาน กรณีนี้พนักงานมีสิทธิ์ได้รับเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงตามที่สมควรได้รับ และทางบริษัทต้นสังกัดจะเป็นผู้ดำเนินเรื่องให้ ส่วนใหญ่แล้วถ้าไปทำงานต่างประเทศแบบที่มีบริษัทต้นสังกัดรองรับจะมีปัญหาน้อย เนื่องจากหลักฐานการทำงานชัดเจนและดูน่าเชื่อถือ

นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงาน

นายจ้างในประเทศไทยส่งพนักงานไปฝึกงานที่ต่างประเทศซึ่งอาจเป็นสำนักงานใหญ่ บริษัทแม่ หรือบริษัทในเครือ กรณีนี้เป็นการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือและทักษะ บางประเทศอาจไม่ได้นับรวมกรณีนี้อยู่ในวีซ่าทำงาน ทำให้ต้องขอเป็นวีซ่าสำหรับฝึกอบรมแทน ดังนั้น ทางบริษัทและพนักงานต้องศึกษาเงื่อนไขของสถานทูตแต่ละประเทศให้ดีเพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้

ผลิตภัณฑ์ความคุ้มครองวีซ่า

ประเภทความคุ้มครองวีซ่า

คู่มือยอดนิยมสำหรับความคุ้มครองวีซ่า