การยกเลิกสัญญาประกันชีวิตก่อนครบกำหนดจะได้รับเงินคืนไหม
การยกเลิกสัญญาประกันชีวิต สามารถทำได้เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทกำหนด
การยกเลิกสัญญาประกันชีวิต สามารถทำได้เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทกำหนด
การเวนคืนกรมธรรม์ หรือที่เรียกง่ายๆได้ว่าการยกเลิกกรมธรรม์ คือ การที่ขอยกเลิกกรมธรรม์เพื่อรับเงินสด (เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์) จากบริษัทประกันชีวิตตามจำนวนที่กำหนดไว้ในตารางมูลค่ากรมธรรม์ และสัญญาเป็นอันสิ้นสุด ซึ่งจะขอเวนคืนได้เมื่อกรมธรรม์มีมูลค่าเงินสดเกิดขึ้นแล้ว และโดยทั่วไปแล้วมูลค่าเงินสดจะเกิดขึ้นในปีที่ 2 หรือปีที่ 3 เป็นต้นไป การเวนคืนกรมธรรม์จะทำให้ความคุ้มครองสิ้นสุดลง และความคุ้มครองของสัญญาเพิ่มเติมที่แนบท้ายกรมธรรม์ก็จะสิ้นสุดลงเช่นกัน
การเวนคืนกรมธรรม์สามารถทำได้ 3 วิธี
1. เวนคืนมูลค่าเงินสดกรมธรรม์
2. การใช้มูลค่าเงินสำเร็จ
3. การขยายเวลาคุ้มครอง
หากต้องการเวนคืนกรมธรรม์ให้เตรียมเอกสารเหล่านี้ยื่นต่อบริษัทประกัน
– แบบฟอร์มขอใช้สิทธิ์ตามสัญญาประกันภัย (เวนคืนกรมธรรม์)
– สำเนาบัตรประชาชน (พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง)
– กรมธรรม์ประกันภัยฉบับจริง (กรณีกรมธรรม์สูญหาย ให้ใช้หลักฐานใบแจ้งความ)
หลายคนที่ทำประกันชีวิตไปแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง และมีความคิดว่าไม่ต้องการได้รับความคุ้มครองอีกต่อไปแล้ว หรือต้องการยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตนั้น อาจด้วยเหตุผลบางประการ เช่น การมีปัญหาด้านการเงิน จนชำระเบี้ยประกันไม่ไหว หรืออาจคิดว่าความคุ้มครองที่ได้รับไม่คุ้มค่ากับเบี้ยประกันที่จ่ายไป หรืออื่นๆ สามารถทำได้แต่ต้องทำความเข้าใจสิ่งที่คุณต้องเสียผลประโยชน์จากการขอเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบกำหนด ดังนี้ เงินเวนคืนที่ได้รับจะน้อยกว่าเบี้ยประกันภัยที่ได้ชำระไปแล้วเมื่อเทียบกับการถือกรมธรรม์จนครบสัญญา ซื้อประกันชีวิตฉบับใหม่อาจต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น เพราะความเสี่ยงเรื่องสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นตามอายุ การซื้อกรมธรรม์ใหม่มีความเสี่ยงที่จะถูกปฏิเสธการรับประกันหรือยกเว้นความคุ้มครองบางอย่างเนื่องจากสุขภาพเปลี่ยนแปลง
เป็นการเวนคืนกรมธรรม์ประเภทที่ผู้ทำประกันหยุดจ่ายเบี้ยประกันชีวิตให้แก่บริษัท แล้วรับเป็นเงินสดจำนวนหนึ่งที่จ่ายไปแล้วคืน โดยที่เงินสดที่ได้ อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าเบี้ยทั้งหมดที่จ่ายไปก็ได้ (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเบี้ยมาแล้ว เทียบกับจำนวนปีทั้งหมดที่ต้องจ่ายเบี้ย ถ้าน้อยกว่ามากๆ เงินสดที่ได้ก็จะได้น้อย) และสัญญาถือเป็นอันสิ้นสุด ไม่มีความคุ้มครองอีกต่อไป (ยกเลิกกรมธรรม์ไปเลย)
ตัวอย่าง นาย A 32 ปี ทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์แบบชำระ15 ปี มีสัญญาคุ้มครอง 30 ปี ที่ทุนประกัน 300,000 บาท ค่าเบี้ย 24,780 บาทต่อปี แต่จ่ายเบี้ยมาได้แค่ 5 ปี รวม 123,900 บาท และไม่สามารถจ่ายเบี้ยต่อได้ ซึ่งสามารถคำนวณมูลค่าของสิทธิ์ต่างๆ ณ สิ้นปีที่ 5 ที่มีมูลค่าเงินสดในตารางกรมธรรม์ 215 บาท
เวนคืนเงินสด = (215 ÷ 1,000) x 300,000 = 64,500 บาท
“ในการขอเวนคืนกรมธรรม์นั้นจะเกิดขึ้นได้ในกรมธรรม์ที่ได้มีมูลค่าเงินสดเกิดขึ้นแล้ว โดยทั่วไปมูลค่าเงินสดจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับความคุ้มครองไปแล้ว 2 ปี สามารถดูตารางมูลค่าเงินสด หรือมูลค่ากรมธรรม์ได้ในเล่มที่เจ้าของประกันถืออยู่”
เป็นการเวนคืนกรมธรรม์ประเภทที่ผู้ทำประกันหยุดจ่ายเบี้ยประกันชีวิตให้แก่บริษัท แต่ยังมีความคุ้มครองต่อไปจนครบสัญญาเหมือนเดิม แต่ทุนประกันจะลดลง ผู้ทำประกันอาจจะได้เงินก้อนหนึ่งคืนทันทีหรือไม่มีก็ได้ (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเบี้ยมาแล้ว เทียบกับจำนวนปีทั้งหมดที่ต้องจ่ายเบี้ย ถ้าน้อยกว่ามากๆ ความคุ้มครองอาจจะลดลงเยอะ และไม่มีเงินคืนทันที) เมื่อครบสัญญาก็จะได้เงินคืนอีกก้อนหนึ่ง จำนวนเท่ากับทุนประกันที่ลดลง
ตัวอย่าง นาย A 32 ปี ทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์แบบชำระ15 ปี มีสัญญาคุ้มครอง 30 ปี ที่ทุนประกัน 300,000 บาท ค่าเบี้ย 24,780 บาทต่อปี แต่จ่ายเบี้ยมาได้แค่ 5 ปี รวม 123,900 บาท และไม่สามารถจ่ายเบี้ยต่อได้ ซึ่งสามารถคำนวณมูลค่าของสิทธิ์ต่างๆ ณ สิ้นปีที่ 5 มีมูลค่าเงินสดในตารางกรมธรรม์ 517 บาท
เงินสำเร็จเหลือความคุ้มครอง = (517 ÷ 1,000) x 300,000 = 155,100 บาท
ได้เงินคืนตอนครบสัญญา= 155,100 บาท (จากทุนเดิม 300,000 บาท)
ก่อนการพิจารณายกเลิกกรมธรรม์ควรพิจารณาถึงภาวะสุขภาพหรืออายุที่เพิ่มมากขึ้นที่อาจทำให้การขอทำประกันชีวิตฉบับใหม่แพงขึ้นและค่าเบี้ยประกันสูงขึ้น
เป็นการเวนคืนกรมธรรม์ประเภทที่ผู้ทำประกันหยุดจ่ายเบี้ยประกันชีวิตให้แก่บริษัท แต่ต้องการขยายเวลาคุ้มครองเพิ่มเติม โดยที่มีทุนประกันเท่าเดิม ผู้ทำประกันอาจจะได้เงินก้อนหนึ่งคืนทันที หรือได้เงินตอนครบสัญญาด้วยหรือไม่ก็ได้ (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเบี้ยมาแล้ว เทียบกับจำนวนปีทั้งหมดที่ต้องจ่ายเบี้ย ถ้าน้อยกว่ามากๆ ระยะเวลาคุ้มครองก็อาจจะขยายต่อไปจากวันที่หยุดจ่ายเบี้ยไม่นานนัก และไม่ครบสัญญา และไม่มีเงินคืนทันที หรือไม่มีเงินตอนครบสัญญา)
ตัวอย่าง นาย A 32 ปี ทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์แบบชำระ15 ปี มีสัญญาคุ้มครอง 30 ปี ที่ทุนประกัน 300,000 บาท ค่าเบี้ย 24,780 บาทต่อปี แต่จ่ายเบี้ยมาได้แค่ 5 ปี รวม 123,900 บาท และไม่สามารถจ่ายเบี้ยต่อได้ ซึ่งสามารถคำนวณมูลค่าของสิทธิ์ต่างๆ ณ สิ้นปีที่ 5 มีมูลค่าเงินสดในตารางกรมธรรม์ 421 บาท
ขยายเวลาคุ้มครองต่อไปอีก = 25 ปี (ทุนประกัน 300,000 เท่าเดิม)
ได้เงินคืนตอนครบสัญญา = (421 ÷ 1,000) x 300,000 = 126,300 บาท
หากจ่ายเบี้ยประกันไม่ไหวแต่ไม่อยากยกเลิกกรมธรรม์ ผู้ทำประกันก็ยังมีทางเลือกที่ได้รับเงินก้อนจากบริษัท และยังมีความคุ้มครองชีวิตอยู่ด้วย นั่นคือ การกู้กรมธรรม์ โดยทั่วไปกู้ได้ไม่เกินมูลค่าเวนคืนที่มีอยู่ซึ่งบริษัทฯ จะคิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณเบี้ยประกันอีกประมาณ 2% ต่อปี วิธีคำนวณง่ายๆ หากอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณเบี้ยประกันของกรมธรรม์นั้นอยู่ที่ 4% ต่อปี ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะประมาณ 6% ต่อปี ข้อดีของการใช้วิธีกู้กรมธรรม์ คือ ผู้ทำประกันยังได้รับความคุ้มครองชีวิตเช่นเดิม ซึ่งกรมธรรม์จะสิ้นสุดลงหรือความคุ้มครองจะหมดไปก็ต่อเมื่อเงินกู้ยืมและดอกเบี้ยค้างชำระมีมูลค่ามากกว่ามูลค่าเวนคืนในขณะนั้น