เราจะได้รับประโยชน์จากประกันชีวิตชั่วระยะเวลาอย่างไร
ประกันชีวิตชั่วระยะเวลา อีกหนึ่งทางเลือกของประกันชีวิต ที่ให้คุณสามารถเลือกรับคุ้มครองความเสี่ยงในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของชีวิต
ประกันชีวิตชั่วระยะเวลา อีกหนึ่งทางเลือกของประกันชีวิต ที่ให้คุณสามารถเลือกรับคุ้มครองความเสี่ยงในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของชีวิต
เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์หลังจากที่ผู้ทำประกันได้เสียชีวิตลงในระยะเวลาประกันภัย วัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองการเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร การประกันชีวิตแบบนี้ไม่มีส่วนของการออมทรัพย์ เบี้ยประกันภัยจึงต่ำกว่าแบบอื่น ๆ และไม่มีเงินเหลือคืนให้หากผู้เอาประกันภัยอยู่จนครบกำหนดสัญญา ผู้ได้รับประโยชน์หรือผู้แทนจะได้เงินชดเชยเมื่อทำประกันภัยเสียชีวิตในระยะเวลาที่กำหนด เช่น 1 ปี 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี เป็นการทำประกันชีวิตทางเลือกที่ผู้ทำประกันต้องการความคุ้มครองในระยะเวลาใดๆ ที่มีภาระต้องรับผิดชอบสูง ซึ่งหากเสียชีวิตกะทันหัน คนที่อยู่ข้างหลังอาจเดือดร้อนได้ เช่น ผู้ที่มีลูกที่ยังเล็กอยู่ ผู้ที่มีหนี้สินอยู่แต่ยังผ่อนไม่หมดและไม่อยากสร้างภาระให้คนข้างหลัง
ประกันแบบ Term เป็นประกันที่ให้ความคุ้มครองต่อผู้ทำประกันในทุนประกันที่สูงเมื่อเทียบกับประกันชีวิตแบบอื่นๆ ที่จ่ายเบี้ยประกันเท่ากัน สามารถเลือกระยะเวลาจ่ายเบี้ยประกันและระยะเวลาที่ต้องการรับความคุ้มครองได้เอง เช่น ต้องการความคุ้มครอง 5 ปี 10 ปี เป็นต้น จ่ายเบี้ยประกันไม่แพง สามารถทำควบคู่กับประกันชีวิตตลอดชีพได้เพื่อได้รับความคุ้มครองสองต่อ
ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลาไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผลตอบแทนอื่นนอกจากให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตเท่านั้น จึงไม่สามารถคาดหวังผลตอบแทนเป็นเงินระหว่างสัญญาหรือกรณีมีชีวิตอยู่จนครบสัญญาได้ ประกันให้ความคุ้มครองเฉพาะช่วงเวลาที่จ่ายเบี้ยประกันถ้าพ้นกำหนดระยะเวลาในการคุ้มครองไปแล้วผู้เอาประกันภัยยังมีชีวิตอยู่ สัญญาถือเป็นอันสิ้นสุดลงผู้เอาประกันภัยจะไม่ได้รับเงินชดเชย สัญญาประกันชีวิตแบบนี้ให้ความคุ้มครองภัยจากการเสียชีวิตเพียงอย่างเดียว ไม่มีผลประโยชน์ในด้านสะสมทรัพย์รวมอยู่ด้วย เบี้ยประกันภัยจึงต่ำกว่าแบบอื่นๆ
“สำหรับประกันแบบชั่วระยะเวลานี้ผู้ทำประกันต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคุณจะไม่ได้รับเงินชดเชยหรือเงินคืนใดๆ หากมีชีวิตอยู่มากกว่าอายุกรมธรรม์”
ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลานี้สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เหมาะกับผู้เสียภาษีที่ต้องการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีที่เป็นหัวหน้าครอบครัว มีลูกเล็ก เพื่อเป็นหลักประกันของครอบครัวเป็นเวลา 10 – 20 ปี เช่น คุ้มครองจนกว่าลูกจะเรียนจบปริญญาตรี คุ้มครองค่าผ่อนบ้านที่เหลืออยู่ เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ทำประกันแต่ละคนจะพิจารณาว่ามีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร
ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลาถึงแม้จะมีขอเสียที่อาจจะไม่ได้รับผลประโยชน์หากมีอายุมากกว่ากรมธรรม์ แต่ผู้ทำประกันจ่ายเบี้ยประกันต่ำได้รับความคุ้มครองสูงหากเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียแล้ว หากข้อดีมีน้ำหนักมากกว่าก็ถือว่าประกันชนิดนี้เหมาะกันคุณ
การทำประกันแบบชั่วระยะเวลาเป็นประกันที่มีความเสี่ยงที่ผู้รับผลประโยชน์จะไม่ได้สินไหมทดแทนสูงหากผู้ทำประกันมีอายุมากกว่าอายุของกรมธรรม์ จึงมีสิ่งที่ที่จำเป็นที่ผู้ทำประกันแบบชั่วระยะเวลาควรคำนึงก่อนที่จะตัดสินใจซื้อประกันมีดังนี้
ผู้รับผลประโยชน์: ใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์หากผู้ทำประกันเสียชีวิตภายในอายุกรมธรรม์
ระยะเวลาที่คุณจะได้รับความคุ้มครอง: คุณจะต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่ได้รับความคุ้มครองรวมเปรียบเทียบกับความเสี่ยงที่อาจจะเสียชีวิตหลังจากอายุกรมธรรม์
จำนวนเบี้ยประกัน: จำนวนเบี้ยประกันเป็นสิ่งสำคัญที่คุณต้องคำนึงเพราะคุณอาจต้องสูญเสียเบี้ยประกันที่จ่ายไปทั้งหมดหากคุณไม่ได้เสียชีวิตในอายุกรมธรรม์
ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลาสามารถเลือกระยะเวลาที่ต้องการได้รับความคุ้มครองได้ตามจำนวนปีที่ต้องการได้รับความคุ้มครอง อาจพิจารณาจากผลกระทบจากความเสี่ยงหลังจากการเสียชีวิตที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน เช่น ผู้ทำประกันเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่มีลูกเล็กอายุ 11 ขวบ มีความกังวลว่า หากตนเองเสียชีวิตก่อนที่ลูกจะ อายุ 18 ปี ก่อนที่จะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ลูกจะได้รับความลำบากและไม่มีคนส่งเสียเลี้ยงดู จึงต้องการความคุ้มครองในระยะเวลา 7 ปี จนกว่าลูกจะอายุ 18 ปี ซึ่งผู้ทำประกันสามารถมั่นใจได้ว่า หากตนเองได้เสียชีวิตในระยะเวลาเอาประกัน ลูกจะมีได้รับเงินเยียวยาเพื่อดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างไม่ลำบากแน่นอน และหลังจากที่พ้นช่วงระยะเวลา 7 ปี ไม่จำเป็นต้องคุ้มครองเพราะลูกสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว
ตัวอย่างความคุ้มครอง ระยะเวลา 7 ปี
ผู้เอาประกันภัยอายุ 30 ปี ทุนประกัน 100,000 บาท สัญญา 7 ปี เบี้ยประกันปีละ 8,000 บาท ชำระ 7 ปี
เริ่มจ่ายเบี้ยประกันปีละ 8,000 บาท ปีที่ 1 – ปีที่ 7 เสียชีวิตในระหว่าง 7 ปี = ได้รับเงินชดเชย 100,000 บาท
เริ่มจ่ายเบี้ยประกันปีละ 8,000 บาท ปีที่ 1 – ปีที่ 7 ยังคงมีชีวิตอยู่หลังจากปีที่ 7 ปี = ไม่ได้รับเงินชดเชย